เครื่องกำเนิดแสงสยาม (Siam Photon Source)เป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนขนาดพลังงาน 1.2 GeV ประกอบด้วยระบบเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน ทำหน้าที่ผลิตและเร่งพลังงานลำอิเล็กตรอน และวงกักเก็บอิเล็กตรอนทำหน้าที่กักเก็บลำอิเล็กตรอนพลังงานสูงและผลิตแสงซินโครตรอน
ส่วนประกอบของเครื่องกำเนิดแสงสยาม
ระบบเครื่องเร่งอนุภาคทางตรง รวมถึงปืนอิเล็กตรอน (Electron gun) ซึ่งเป็นหลอดคาโธด ทำหน้าที่ผลิตอิเล็กตรอน จากนั้นอิเล็กตรอนถูกเร่งพลังงานภายในท่อเร่งพลังงาน (Accelerating tube) ของเครื่องเร่งอนุภาคทางตรงจนมีพลังงาน 40 MeVโดยการเร่งพลังงานอิเล็กตรอน ใช้สนามไฟฟ้าจากคลื่นไมโครเวฟกำลังสูง (ความถี่ 2856 MHz) ซึ่งถูกผลิตจากอุปกรณ์ที่เรียกว่าไครสตรอน (Klystron) และถูกส่งเข้าสู่ท่อเร่งพลังงานของเครื่องเร่งอนุภาคทางตรงผ่านทางท่อนำคลื่น (Wave guide)
ภาพแสดงส่วนประกอบเครื่องเร่งอนุภาคทางตรง (Linear accelerator)
จากนั้น ลำอิเล็กตรอนพลังงาน 40 MeV ถูกนำส่งโดยระบบนำส่งอนุภาคพลังงานต่ำเข้าสู่เครื่องเร่งอนุภาคแบบวงกลม ซึ่งเร่งพลังงานอิเล็กตรอนจาก 40 MeV เป็น 1 GeV โดยใช้สนามไฟฟ้าของคลื่นวิทยุกำลังสูง (ความถี่ 118 MHz) ภายในอุปกรณ์ที่เรียกว่า RF Cavity โดยอิเล็กตรอนจะเคลื่อนที่อยู่ในเครื่องเร่งอนุภาคแบบวงกลม (ระยะเส้นรอบวง 43 เมตร) ประมาณ 4 ล้านรอบ ใช้เวลาประมาณ 0.6 วินาที และถูกเร่งพลังงานขึ้นทีละน้อยเมื่อเคลื่อนที่ผ่าน RF Cavity ในแต่ละรอบ
ภาพเครื่องเร่งอนุภาคแบบวงกลม (Booster synchrotron)
อิเล็กตรอนพลังงาน 1 GeV ถูกนำส่งโดยระบบนำส่งอนุภาคพลังงานสูงเข้าสู่วงกักเก็บอิเล็กตรอน จากนั้นจึงถูกเร่งพลังงานอีกครั้งจนถึงค่าพลังงาน 1.2 GeVและกักเก็บไว้ภายในท่อสุญญากาศของวงกักเก็บอิเล็กตรอนที่มีขนาดเส้นรอบวง 81.3 เมตร เมื่ออิเล็กตรอนพลังงานสูงเลี้ยวโค้งในสนามแม่เหล็กของแม่เหล็กบังคับเลี้ยว (Bending magnet) ของวงกักเก็บอิเล็กตรอน ก็จะปลดปล่อยแสงซินโครตรอน
ภาพวงกักเก็บอิเล็กตรอน (Storage ring)และกราฟฟิกแสดงแสงซินโครตรอนที่ปลดปล่อยจากแม่เหล็กบังคับเลี้ยว (Bending magnet)
สำหรับรายละเอียดเชิงเทคนิค โปรดดูในหน้า web ของแต่ละส่วนประกอบ