แนวความคิดที่จะสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนขึ้นในประเทศไทยนั้นเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2536 โดยสภาวิจัยแห่งชาติได้เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และเทคโนโลยีอันเป็นฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ สภาวิจัยแห่งชาติจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนในประเทศไทย ประกอบด้วย
1. ศาสตราจารย์ ดร.วิรุฬห์ สายคณิต (หัวหน้าโครงการ)
2. รองศาสตราจารย์ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง
3. รองศาสตราจารย์ ดร.จงอร พีรานนท์
4. รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิต ศรีตระกูล
5. นายขจรศักดิ์ ชัยวัฒน์
โดยคณะทำงานได้เดินทางไปศึกษาความเป็นไปได้ และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ตลอดจนงานวิจัยด้านแสงซินโครตรอน จากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน และได้รายงานสรุปผลการศึกษา หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อร่างโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสง ซินโครตรอนของประเทศไทยขึ้น
ในปี พ.ศ. 2537 คณะทำงานได้สรุปแบบเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่มีวงกักเก็บอิเล็กตรอนระดับพลังงาน 1,000 ถึง 1,300 ล้านอิเล็กตรอนโวลท์ และพิจารณาสถานที่ตั้งที่เหมาะสม จากรายงานผลการศึกษา และดูงานรวมทั้งการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ จึงได้ข้อสรุปว่าประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนขึ้นเอง
ปี พ.ศ. 2538 ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติกำลังจัดทำรายละเอียดโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเพื่อเสนอต่อรัฐบาล คณะทำงานได้รับแจ้งจากผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นว่าบริษัทซอร์เทค (SORTEC Corporation) ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่เกิดจากการร่วมลงทุนของบริษัทเอกชนญี่ปุ่นทั้งสิ้น 13 บริษัท ซึ่งได้ร่วมกันสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาการผลิตไมโครชิพ (Microchip) มีความประสงค์จะบริจาคเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน เนื่องจากกลุ่มบริษัทฯ ได้รับประสบการณ์จากการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน และได้รับประโยชนตามเป้าหมายที่วางไว้แล้ว ในขณะนั้นได้มีสถาบันวิจัยหลายแห่งทั้งภายใน และภายนอกประเทศญี่ปุ่นรวมถึงประเทศไทยแจ้งความจำนงที่จะขอรับบริจาคเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนี้
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติจึงได้แต่งตั้งคณะผู้ประสานงานประกอบด้วยนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำการศึกษา และประเมินสภาพของเครื่องกำเนิดแสงซิน โครตรอนในการใช้งาน จำนวน 6 ท่าน ดังนี้
1. ศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ
2. ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
3. ศาสตราจารย์ ดร.วิรุฬห์ สายคณิต กรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ
4. ดร. สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
5. รองศาสตราจารย์ ดร. ถิรพัฒน์ วิลัยทอง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
6. รองศาสตราจารย์ วิรุฬห์ มังคละวิรัช ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
คณะผู้ประสานงานได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อประเมินสภาพของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่บริษัทซอร์เทค ตลอดจนได้หาข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ค่าขนส่ง ค่าติดตั้ง ค่าบำรุงรักษา ตลอดจนความร่วมมือในการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อติดตั้ง และดำเนินการ คณะผู้ประสานงานพบว่าเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนทั้งระบบยังอยู่ในสภาพการทำงานที่ดีเยี่ยม และสามารถใช้งานได้อีกนาน จึงเห็นควรขอรับบริจาคเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนดังกล่าวจากกลุ่มบริษัทซอร์เทค และเนื่องจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเป็นเครื่องมือวิจัยที่มีขนาดใหญ่ และมีขีดความสามารถสูง ซึ่งอาจจะเกินขีดความสามารถของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่จะใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ คณะผู้ประสานงานจึงได้ร่าง และนำเสนอ "โครงการแสงสยาม" ต่อคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2539 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติจัดตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ" ให้ดำเนินงานโครงการแสงสยาม โดยให้เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม(ในขณะนั้น) มีระบบการบริหารงานเป็นอิสระจากระบบราชการ และดำเนินงานตามภารกิจภายใต้การกำหนดนโยบายของคณะกรรมการบริหารศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ อันประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ทั้งใน และต่างประเทศ วัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งสามารถสรุปได้ดังนี้
สำหรับสถานที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาตินั้น คณะผู้เชี่ยวชาญไทยและต่างประเทศได้ร่วมสำรวจที่ตั้งที่เหมาะสม สามารถรองรับการติดตั้งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน มีอาคารสถานที่ และบุคลาการพร้อมที่จะร่วมดำเนินการติดตั้ง รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จะสนับสนุนการดำเนินการอย่างเพียงพอ โดยได้เลือกสถานที่ตั้งภายในบริเวณเทคโนธานี ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา โดยทางมหาวิทยาลัยยินดีให้ศูนย์ฯใช้พื้นที่ของอาคารสุรพัฒน์ 3 และพื้นที่รอบอาคารรวมเนื้อที่ประมาณ 28,270 ตารางเมตร เป็นสถานที่ตั้งสำนักงาน และก่อสร้างอาคารห้องปฏิบัติการแสงสยามสำหรับติดตั้งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน
เนื่องจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ได้รับบริจาคมานั้นเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ออกแบบมาเป็นการเฉพาะสำหรับการประยุกต์ใช้ทางด้าน Lithography โดยให้แสงซินโครตรอน ที่มีความเข้มแสงต่ำ และมีช่วงพลังงานแสงจำกัด ทำให้มีขีดความสามารถจำกัดในการประยุกต์ใช้สำหรับงานวิจัยด้านอื่นๆ ดังนั้นเพื่อให้เครื่องกำเนิดแสงสยามมีความเข้มแสง ช่วงพลังาน และเทคนิคการวิจัย วิเคราะห์ที่ครอบคลุมการวิจัยได้หลากหลายสาขา การก่อสร้างเครื่องกำเนิดแสงสยามจึงทำการดัดแปลง และออกแบบส่วนของวงกักเเก็บอิเล็กตรอน และส่วนประกอบบางส่วนใหม่ ดังนี้
สถาบันฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารห้องปฏิบัติการแสงสยาม เมื่อปี พ.ศ. 2541 และดำเนินการติดตั้งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน จากนั้นดำเนินการปรับสภาพของเครื่องและเปิดให้บริการแสงซินโครตรอนต่อผู้ใช้เมื่อพฤศจิกายน 2546 โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญสามารถสรุปได้ดังนี้
พ.ศ. 2539 |
คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติการจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ และ กลุ่มบริษัท SORTEC Corporation ประเทศญี่ปุ่น บริจาคเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน มูลค่า 8,000 ล้านบาท |
พ.ศ. 2541 |
ดำเนินการประกอบ และติดตั้งเครื่องกำเนิดแสงสยาม |
พ.ศ. 2542 |
ประสบความสำเร็จในการเก็บกักอิเล็กตรอนใน Storage Ringได้เป็นครั้งแรก |
พ.ศ. 2544 |
สามารถทำการกักเก็บอิเล็กตรอนใน Storage Ring ได้ และสามารถเห็นแสงซินโครตรอนได้เป็นครั้งแรก |
พ.ศ. 2545 |
ติดตั้งระบบลำเลียงแสง พร้อมสถานีทดลองแรก สำหรับเทคนิคโฟโตอิมิชชัน แล้วเสร็จ |
พ.ศ. 2546 |
เริ่มเปิดให้บริการแสงซินโครตรอน |
พ.ศ. 2548 |
พัฒนาศักยภาพวงกักเก็บให้กักเก็บอิเล็กตรอนที่มีพลังงานสูงขึ้น จาก 1,000 ล้านอิเล็กตรอนโวลท์ เป็น 1,200ล้านอิเล็กตรอนโวลท์ และติดตั้งระบบลำเลียงแสง พร้อมสถานีทดลองสำหรับเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ |
พ.ศ. 2549 |
ติดตั้งระบบลำเลียงแสง พร้อมสถานีทดลองสำหรับการผลิตชิ้นส่วนขนาดจิ๋ว และ ก่อสร้างอาคารปฏิบัติการรวมและระบบสาธารณูปโภค |
พ.ศ. 2550 |
ทดสอบ Wavelength Shifter (WLS) และระบบหล่อเย็นด้วยฮีเลียมเหลว และ จัดสร้างระบบลำเลียงแสง พร้อมสถานีทดลองสำหรับเทคนิค PX และ PEEM |
พ.ศ. 2551 |
ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 |
พ.ศ. 2552 |
เปิดให้บริการแสงซินโครตรอนในย่านรังสีอัลตราไวโอเลตถึงย่านรังสีเอกซ์พลังงานต่ำ (Soft X-rays) สำหรับห้องปฏิบัติการแสงสยามโดยมีระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน พร้อมอุปกรณ์การวิเคราะห์ที่ให้บริการทั้งสิ้นจำนวน 4 เทคนิค ได้แก่ 1. ระบบลำเลียงแสงสำหรับเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (X-ray Absorption Spectroscopy) |
พ.ศ. 2553 |
เปิดให้บริการระบบลำเลียงแสงซินโครตรอนพร้อมสถานีทดลองจำนวน 2 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบลำเลียงแสงสำหรับเทคนิคการสร้างโครงสร้างจุลภาคสัดส่วนสูงด้วยรังสีเอกซ์ ( Deep X-ray Lithography, DXL) สถานีทดลองจำนวน 2 สถานีทดลอง ได้แก่ 1. สถานีทดลองสำหรับการศึกษาโครงสร้างผลึกของโมเลกุลขนาดใหญ่ (Macromolecular Crystallography, MX) |
พ.ศ. 2554 |
เปิดให้บริการระบบลำเลียงแสงพร้อมสถานีทดลอง จำนวน 5 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบลำเลียงแสงสำหรับเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์แบบแยกแยะเวลา (Time-Resolved X-ray Absorption Spectroscopy, TRXAS) 2. ระบบลำเลียงแสงสำหรับเทคนิคการกระเจิงรังสีเอกซ์มุมเล็ก (Small Angle X-ray Scattering ,SAXS) 3. ระบบลำเลียงแสงสำหรับการถ่ายภาพจากการปลดปล่อยอิเล็กตรอน (Photoemission Electron Microscopy, PEEM ) 4. ระบบลำเลียงแสงสำหรับการศึกษาโครงสร้างอิเล็กทรอนิกส์บริเวณพื้นผิว (Photoemission Electron Spectroscopy, PES) 5. ระบบลำเลียงแสงสำหรับการถ่ายภาพแบบเรืองรังสีเอกซ์ (Micro-beam X-ray Fluorescence Imaging , XFRI) |
พ.ศ. 2555 |
ประสบความสำเร็จในการรักษาเสถียรภาพพลวัตของลำอิเล็กตรอนด้วยวิธี Fault Tolerant Control สามารถบังคับการเลื่อนของลำอิเล็กตรอนให้จำกัดไม่เกิน 4 ไมครอน และสามารถกำจัดปัญหาผลกระทบจากอุณหภูมิที่มีต่อลำอิเล็กตรอนได้ |
พ.ศ. 2556 |
เปิดให้บริการระบบลำเลียงแสงพร้อมสถานีทดลอง จำนวน 8 ระบบ และดำเนินการติดตั้งชุดแม่เหล็ก Multipole wiggler ที่สถาบันฯ จะได้รับจากสถาบัน ASTeC สหราชอาณาจักร และดำเนินการซ่อมแซมพร้อมติดตั้งชุดแม่เหล็ก Superconducting wavelength shifter ที่สถาบันฯ ได้รับจากสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เพื่อผลิตแสงซินโครตรอนในย่านรังสีเอกซ์พลังงานสูง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ต้นปีงบประมาณ 2557 |
พ.ศ. 2557 |
ประสบความสำเร็จในการติดตั้งชุดแม่เหล็กความเข้มสูง จำนวน 2 ชุด เข้าไปในวงกักเก็บอิเล็กตรอน ซึ่งหลังจากได้ดำเนินการติดตั้งแม่เหล็กทั้งสองชุดแล้ว ได้ทำการแก้ไขทัศนศาสตร์ของวงกักเก็บฯ (Storage ring optics) เพื่อชดเชยการรบกวน (Perturbation) ที่เกิดขึ้น จนสามารถเดินเครื่องและผลิตแสงซินโครตรอนในย่านรังสีเอกซ์พลังงานสูงได้ตามเป้าหมาย ส่งผลให้สถาบันฯ สามารถดำเนินการติดตั้งระบบลำเลียงแสง BL7.2W: MX แล้วเสร็จ และอยู่ในช่วงการทดสอบการใช้งานจริงที่ปลายสถานีทดลอง (commissioning) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ปลายปี พ.ศ. 2557 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองปีสากลแห่งผลึกศาสตร์ (International Year of Crystallography, IYCr 2014) ซึ่งถือได้ว่า BL7.2W: MX จะเป็นเครื่องมือสำคัญและมีบทบาทในการเพิ่มศักยภาพของการศึกษาวิจัยทางด้านผลึกศาสตร์ และรองรับงานวิจัยทางด้านชีววิทยาโครงสร้าง (Structural Biology) ในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป |
พ.ศ. 2558 |
เปิดให้บริการระบบลำเลียงแสงพร้อมสถานีทดลองเทคนิครังสีเอกซ์พลังงานสูงแห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อใช้ศึกษาโครงสร้างสามมิติของสารชีวโมเลกุลขนาดใหญ่ (BL7.2W: MX) การพัฒนาระบบลำเลียงแสงอินฟาเรด (BL 4.1 : IR) ดำเนินการได้ผลสำเร็จถึงขั้นที่สามารถใช้งานได้ดีใน Transmission work ทำการทดลองได้ผลดีถึงระดับความละเอียด 10 micron x 10 micron และสถาบันฯ ประสบความสำเร็จในการติดตั้งระบบลำเลียงแสง X-ray imaging and micro-tomography และระบบลำเลียงแสง Multiple X-ray techniques นอกจากนี้ ฝ่ายเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาคประสบความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพการยิงอิเล็กตรอนเข้าเครื่องกำเนิดแสง ให้ใช้เวลาสั้นกว่าเดิม 5 เท่า และประสบความสำเร็จในการปรับปรุงเครื่องเร่งอนุภาคแนวตรง (Linac) เพื่อใช้งานทดสบ detector ในโครงการความร่วมมือกีบ ALICE-CERN ตลอดจนสามารถเพิ่มพลังงานของบูสเตอร์ซินโครตรอนขึ้นเป็น 1.2 GeV |
ระบบลำเลียงแสงสำหรับเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (X-ray Absorption Spectroscopy)สำหรับงานวิจัยด้านเคมีวิเคราะห์ วัสดุศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ชีววิทยา และอุตสาหกรรม เช่น การตรวจสอบพันธะเคมีสถานะออกซิเดชัน และโครงสร้างโมเลกุล การวิเคราะห์โครงสร้างของโมเลกุลสารพิษ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม เช่น การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งมีมากที่จังหวัดสระบุรี หรือใช้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของกำมะถันในผลิตภัณฑ์ยางพารา เช่น ยางรถยนต์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากยาง หรือการปรับปรุงคุณสมบัติของเซรามิกส์เพื่อนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ระบบลำเลียงแสงสำหรับเทคนิคการประดิษฐ์ชิ้นส่วนขนาดจิ๋วสามมิติด้ายรังสีเอ็กซ์ (Deep X-ray Lithography)สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิตแม่พิมพ์สิ่งประดิษฐ์ขนาดจิ๋วแบบสามมิติ ที่มีขนาดเล็กระดับไมโครเมตร(ขนาดหนึ่งในล้านเมตร) ในอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนของแขนกล มอเตอร์ของหัวอ่านฮาร์ดดิสก์ แผ่นระบายความร้อนขนาดจิ๋ว อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คุณภาพสูง อุปกรณ์จ่ายยาอัตโนมัติแบบฝังในร่างกาย เครื่องมือแพทย์เพื่อการรักษาผ่านกล้องจุลทรรศน์ เซลล์เชื้อเพลิง ตัวตรวจวัดปริมาณกายภาพ เคมี และชีวภาพ ชิ้นส่วนหุ่นยนต์ และเครื่องจักรขนาดจิ๋ว เป็นต้น
อุปกรณ์การวัดและวิเคราะห์โครงสร้างผลึกของโมเลกุลขนาดใหญ่ (Macromolecular Crystallography) สำหรับงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น การศึกษาโครงสร้างโปรตีน โมเลกุลของเชื้อโรค เป็นต้น
อุปกรณ์การวัดและวิเคราะห์ด้วยรังสีอินฟราเรด (Infrared Microspectroscopy) ซึ่งเป็นเทคนิคมาตรฐานสำหรับการจำแนกชนิดของโครงสร้าง และพันธะเคมีของโมเลกุลของสารที่มีประสิทธิภาพโดยสามารถวิเคราะห์ตัวอย่างที่มีขนาดเล็กระดับจุลภาค อีกทั้งยังสามารถเลือกตำแหน่ง หรือบริเวณที่ต้องการวิเคราะห์ได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเอนไซม์ของข้าวก่อนและหลังการปรับปรุงคุณสมบัติให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น การตรวจสอบปริมาณ และชนิดของสารเคมีที่มีอยู่ในเมล็ดธัญพืช การศึกษาการดูดซึม และการกระจายของสารต่างๆ ของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในเส้นผม สำหรับการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบเซลล์ต้นกำเนิด การตรวจสอบเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ เป็นต้น