การศึกษาโครงสร้างผลึกของชิ้นงานพอลิโพรไพลีนที่ขึ้นรูปด้วยวิธีการฉีด ของคณะวิจัยของบริษัทไทยโพลิเอทีลีนจำกัดในเครือ บริษัท เอสซีจี เคมีคอลล์ ด้วยเทคนิคการกระเจิงรังสีเอกซ์มุมเล็ก ( Small Angle X-ray Scattering: SAXS) ผลการทดลองบ่งชี้ให้เห็นว่าการขึ้นรูปชิ้นงานด้วยวิธีการฉีด ทำให้ส่วนที่เป็นผลึกของพอลิโพรไพลีนมีการวางตัวอย่างเป็นระเบียบตามทิศทางของการฉีด และแสดงแบบจำลองการเรียงตัวของสายโซ่พอลิโพรไพลีนที่มีการพับทบกันไปมาจนเกิดเป็นชั้นของเส้นใย (lamellarfibril) ชั้นของเส้นใยเหล่านี้คือส่วนที่เป็นผลึกของพอลิโพรไพลีนที่มีการซ้อนทับจนเกิดเป็นโครงสร้างที่มีการเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบในทิศทางเดียวกันกับทิศทางการฉีดสารขึ้นรูปชิ้นงาน จึงสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างผลึกและสมบัติเชิงกลของพอลิโพรไพลีน เช่น ความสามารถในการทนแรงกระแทก (impact resistance) และมอร์ดูลัสการดัดงอ (flexural modulus) รวมไปถึงสภาวะต่างๆของกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกในอุตสาหกรรมได้
กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) ได้ร่วมทำการศึกษาตัวเร่งปฏิกิริยาโคบอลต์ที่เจือโลหะรูทีเนียมและเซอร์โครเนียมออกไซด์บนซิลิกาในปฏิกิริยาฟิชเชอร์-โทรปช์ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่สำคัญในการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์ โดยเทคนิค XANESที่ระบบลำเลียงแสง TRXAS ณ สถานีทดลองที่ 2.2 ผลการศึกษาพบว่าที่อุณหภูมิ 550 องศาเซลเซียสสามารถลดรูปCo3O4 เป็นโลหะโคบอลต์ (Co) ได้ โดยกลไกการรีดักชันเกิดผ่านโคบอลต์ที่อยู่ในรูป CoO อีกทั้งสามารถบอกได้ว่ารูทีเนียมและเซอร์โครเนียมออกไซด์นั้น ส่งผลต่อความสามารถในการรีดักชันของตัวเร่งปฏิกิริยาโคบอลต์ โดยทำให้ตัวเร่งปฏิกิริยานั้นมีความสามารถในการรีดักชันดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ตัวเร่งปฏิกิริยาโคบอลต์พัฒนาไปเป็นชนิดที่ว่องไวมากขึ้น ในกระบวนการปฏิกิริยาฟิชเชอร์-โทรปช์ ข้อมูลที่ได้จากการวัดด้วยเทคนิค XANES ดำเนินงานที่ระบบลำเลียงแสง TRXAS จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับกระบวนการฟิชเชอร์โทรปช์ นับเป็นกระบวนการหนึ่งที่สำคัญของการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์
คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประยุกต์ใช้เทคนิค Photoemission Electron Spectroscopy (PES) ณ สถานีทดลองที่ 3.2a เพื่อศึกษาสารประกอบโพแทสเซียมแทนทาลัมออกไซด์ (KaTaO3) พบว่ามีคุณสมบัติคล้ายกับสตรอนเทียมไททาเนียมออกไซด์คือเกิดชั้นอิเล็กตรอนที่นำไฟฟ้าบนผิวเมื่ออาบด้วยแสงซินโครตรอนในย่านรังสีอัลตราไวโอเลตโดยนักวิจัยสามารถใช้เทคนิคโฟโตอิมิชชันช่วยในการบอกที่มาของความคล่องตัวของอิเล็กตรอนได้
คณะนักวิจัยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการกัดกร่อนของเหล็กกล้าเครื่องมือ H13 ที่เคลือบด้วยฟิล์มบางโครเมียมไนไตรด์ ด้วยเทคนิค X-PEEM ณ สถานีทดลองที่ 3.2bพบว่าชิ้นงานเหล็กกล้าเครื่องมือ H13 ที่ผ่านการเคลือบผิวฟิล์มบางโครเมียมไนไตรด์มีความสามารถในการต้านทานการกัดกร่อนได้สูงกว่าชิ้นงานเหล็กเครื่องมือ H13 (ที่ยังไม่เคลือบผิว) นอกจากนั้นแล้วการทดสอบความต้านทานของเหล็กกล้าในสารละลายโซเดียมคลอไรด์ที่ความเข้มข้น 3.5%(เท่ากับน้ำทะเล) พบว่าบริเวณที่ไม่เกิดการกัดกร่อนจะมีสารประกอบโครเมียมออกไซด์เกิดขึ้น ซึ่งสารประกอบโครเมียมออกไซด์จำพวกนี้มักจะเป็นตัวปกป้องพื้นผิวไม่ให้เกิดการกัดกร่อน โดยทั่วไปแล้วจะปรากฏในรูปของ Cr2O3 ซึ่งเป็นชั้นฟิล์มที่มีเสถียรภาพ ส่วนบริเวณที่เกิดการกัดกร่อนจะปรากฏสารประกอบจำพวกเหล็กออกไซด์ในรูปของ Fe2O3 หรือเรียกอีกอย่างว่า เฮมาไทต์ (Hematite) ซึ่งเป็นสนิมเหล็กนั่นเอง
การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดจากการพัฒนาในการเกิดโรคตับ สามารถทำการตรวจวินิจฉัยได้หลายวิธีซึ่งมีค่าใช้จ่ายทางด้านสารเคมีที่มีราคาสูงและใช้เวลานาน การประยุกต์ใช้เทคนิค FTIR microspectroscopy ณ สถานีทดลองที่ BL 4.1 จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์และจำแนกความผิดปกติของซีรั่มผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งตับได้ ผลการทดลองพบว่าสเปคตรัมจากซีรั่มของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับสามารถแยกความแตกต่างออกจากสเปคตรัมจากซีรั่มของผู้ป่วยโรคตับแข็งและซีรั่มของคนปกติได้ในระดับความถูกต้อง 96 % โดยพบว่ามีลักษณะโครงสร้างทุติยภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อีกทั้งยังมีปริมาณไขมันที่ต่ำลงด้วย การวิเคราะห์ด้วยเทคนิคนี้มีต้นทุนต่ำ รวมไปถึงใช้เวลาในการวิเคราะห์สั้น ขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างไม่ยุ่งยาก ตัวอย่างไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการการใช้สารเคมี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในอนาคต
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) พัฒนาคิดค้น“ชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ 20 เซลล์” ด้วยเทคนิค DeepX-ray Lithography (DXL) ณ สถานีทดลองที่ 6a ซึ่งมีอำนาจทะลุทะลวงสูงมาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนของตัวแสดงผลอักษรเบรลล์ ทำให้ได้ชิ้นงานมีความคมชัดและแม่นยำสูงจึงสามารถผลิตชิ้นส่วนของเครื่องได้ โดยชุดอักษรเบรลล์ที่ผลิตขึ้นมานี้จะมีโปรแกรมเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่อแปลงอักษรปกติให้เป็นอักษรเบรลล์และจะปรากฏบนเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ เมื่อผู้พิการทางสายตาสัมผัสที่แถวอักษรเบรลล์บนเครื่องจะสามารถอ่านข้อความที่ป้อนผ่านคอมพิวเตอร์ได้ เพื่อให้คนตาบอดใช้อ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บนจอคอมพิวเตอร์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แม่นยำ ทั้งนี้การที่ทางสถาบันฯสามารถผลิตชุดแสดงผลอักษรเบรลล์เป็น10 เซลล์ได้นี้จะสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนในการสร้างอุปกรณ์มีราคาถูกลง
“กระจกเกรียบ” หรือกระจกที่ใช้ประดับตกแต่งวัดพระแก้วได้รับการยกย่องว่ามีเอกลักษณ์วิจิตรงดงาม แต่ในปัจจุบันวิธีการทำกระจกเกรียบได้หายสาบสูญไปตามกาลเวลา จึงส่งผลต่อการบูรณะโบราณสถานที่สำคัญของไทยให้คงทั้งเอกลักษณ์และความสวยงามไว้เหมือนเดิม จากการศึกษาและวิเคราะห์ด้วย ด้วยเทคนิค X-ray absorption (XAS)ณ สถานีทดลองที่ 8 ทำให้ทราบถึงธาตุ การจัดเรียงตัวของธาตุ และองค์ประกอบที่สำคัญของกระจกเกรียบแต่ละสีเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในงานวิจัยครั้งนี้ คือ คิดค้นสูตรและทดลองทำกระจกประดับให้มีลักษณะใกล้เคียงกับกระจกเกรียบโบราณให้ได้มากที่สุด เพื่อใช้ในงานบูรณปฏิสังขรณ์ได้อย่างเหมาะสมในอนาคต