- รายละเอียด
-
การศึกษาลูกปัดไทยโบราณอายุ 1300-2000 ปี
ลูกปัดแก้วโบราณสีแดงที่มีอายุประมาณ 1300-2000 ปี เป็นมรดกโลกที่สำคัญ ซึ่งถูกค้นพบในบริเวณชายฝั่งตะวันตก ทางตอนใต้ของประเทศไทย ในจังหวัดกระบี่จังหวัดพังงาและระนอง
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาธาตุทองแดง (Copper) ในลูกปัดแก้ว ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดสีแดงในลูกปัด ด้วยแสงซินโครตรอนย่านพลังงานรังสีเอ็กซ์และเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ (X-ray Absorption Spectroscopy) พบว่า ธาตุทองแดงส่วนหนึ่งเป็นอะตอมของโลหะที่อยู่รวมกันเป็นผลึก มีขนาดในระดับนาโน และอีกส่วนหนึ่งเป็นอะตอมที่มีประจุบวกหนึ่งกระจายตัวอยู่ในเนื้อแก้ว นอกจากนี้ยังพบว่าโครงสร้างอะตอมและสถานะทางเคมีของธาตุทองแดงในลูกปัดแก้วโบราณของประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกันมากกับลูกปัดแก้วโบราณของประเทศอิตาลีที่มีอายุประมาณ 600-700 ปี
งานวิจัยนี้นับเป็นงานวิจัยแรกที่นำแสงซินโครตรอนมาใช้วิเคราะห์ตัวอย่างโบราณคดีที่ค้นพบในประเทศไทย ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการทำลูกปัดแก้วในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนและทางตอนใต้ของประเทศไทย และเป็นข้อพิสูจน์หนึ่งที่แสดงถึงการถ่ายทอดอารยธรรมจากการติดต่อค้าขายไปมาทางทะเลระหว่างดินแดนในสองทวีปที่มีมาช้านาน
ผลงานวิจัยของ วันทนา คล้ายสุบรรณ์ (1), พิศุทธิ์ ดารารัตน์(2-3), ญาติมา ทองคำ(4), สรพงษ์ พงษ์กระพันธุ์ (2),กฤษณ์ วันอินทร์ (2)
(1) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) (2) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
(3) กองทัพบก (4) มหาวิทยาลัยศิลปากร
* R. Arletti, S. Quartieri, G. Vezzalini, et al., J. Non-crystalline Solids 354 (2008),4962-4969