เครื่องเร่งอนุภาคแนววงกลมของเครื่องกำเนิดแสงสยามนั้นมีความยาวเส้นรอบวง 43 เมตร การเร่งอิเล็กตรอนพลังงานต่ำ (40 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์) ไปเป็นอิเล็กตรอนพลังงานสูง (1,000 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์) นั้นใช้เวลา 0.6 วินาที ซึ่งในช่วงเวลานี้อิเล็กตรอนจะโคจรอยู่ในวงเครื่องเร่งอนุภาคแนววงกลมประมาณ 4 ล้านรอบ
วงกักเก็บอิเล็กตรอนของเครื่องกำเนิดแสงสยามนั้นมีความยาวเส้นรอบวง 81 เมตร ใน 1 กะของการเดินเครื่องฯ ซึ่งเท่ากับ 11 ชั่วโมงนั้นอิเล็กตรอนจะเดินทางในวงกักเก็บฯ ได้เป็นระยะทางเท่ากับ 11,880 ล้านกิโลเมตร หรือเท่ากับการเดินทางจากโลกไปยังดาวพลูโตและกลับมายังโลกอีกครั้งหนึ่ง
หน้าตัดของลำอิเล็กตรอนในวงกักเก็บฯ นั้นเป็นรูปวงรี มีขนาดเพียงแค่ 0.5 มิลลิเมตรในแนวนอนและขนาดความสูงเพียง 0.2 มิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งความสูงนี้เทียบเคียงได้กับเส้นผมของคนเราสองเส้นซ้อนกัน
เนื่องจากอิเล็กตรอนในเครื่องกำเนิดแสงฯ นั้นมีความเร็วสูงมาก ตัวอย่างเช่น อิเล็กตรอนจะเคลื่อนที่ครบรอบวงกักเก็บ 1 รอบนั้น ใช้เวลาเพียง 270 นาโนวินาทีเท่านั้น (1 นาโนวินาที = 1 ในพันล้านวินาที) ดังนั้น ระบบควบคุมของเครื่องฯ จึงต้องมีความแม่นยำด้านเวลาสูงมากในระดับนาโนวินาทีเช่นกัน
แม่เหล็กของวงกักเก็บอิเล็กตรอนนั้นบางตัวมีน้ำหนักถึง 6,800 กิโลกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับรถยนต์ 5 คัน แต่ในการวางแม่เหล็กนั้นจะต้องให้มีความแม่นยำในเรือน 0.2 มิลลิเมตร นั่นคือตำแหน่งของแม่เหล็กต้องไม่คลาดเคลื่อนเกินกว่าสองเท่าของขนาดเส้นผมของคนเรา
อิเล็กตรอนในเครื่องกำเนิดแสงสยามนั้นมีความเร็วสูงเกือบเท่าความเร็วของแสง นั่นคือประมาณ 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที หรือ 1,080 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งด้วยความเร็วเท่านี้ หากอิเล็กตรอนสามารถเดินทางได้โดยไม่ชนอะไรจะสามารถเดินทางรอบโลกได้โดยใช้เวลาแค่ 0.1 วินาที เท่านั้น หรือถ้าอิเล็กตรอนนี้จะเดินทางไปดวงจันทร์ก็จะใช้เวลาเพียงแค่ 1.3 วินาที
อิเล็กตรอนในเครื่องเร่งอนุภาคแนววงกลมของเครื่องกำเนิดแสงสยามนั้นมีความเร็วเท่ากับ 0.999999869 เท่าของความเร็วแสง ในขณะที่อิเล็กตรอนในวงกักเก็บฯ มีความเร็วเท่ากับ 0.999999909 เท่าของความเร็วแสง