ด้วยคุณสมบัติที่มากมาย แสงซินโครตรอนจึงนำมาใช้ในงานวิจัยได้หลากหลายด้าน อีกทั้งยังสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ มูลค่าเศรษฐกิจ ให้กับประเทศไทยได้อีกด้วย อาทิ
การพัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็ง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF : บริษัท CPF ถือเป็นบริษัทอันดับต้นๆ ของประเทศที่ผลิตอาหารแช่แข็งเพื่อส่งออกและสร้างมูลค่าให้แก่ประเทศอย่าง มาก ในปี พ.ศ. 2557 บริษัท CPF ได้นำโจทย์วิจัยเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็งส่งออก เข้ามาปรึกษากับทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน โดยบริษัทพบว่า เกิดมีจุดสีขาวเล็กๆ บนผิวเปลือกกุ้งแช่แข็งด้านในเปลือก ในสินค้าที่เก็บในอุณหภูมิติดลบไประยะหนึ่ง โดยในช่วงเวลานั้น ทาง CPF ได้ทำการศึกษาและวิจัยในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องมาบางส่วนแล้วแต่ยังไม่ สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจึงได้มีส่วนเข้าไปช่วยหาคำตอบอีกครั้ง โดยพบว่าจุดขาวที่เกิดขึ้น เป็นการสะสมของแร่ธาตุแคลเซียมที่เปลือกซึ่งเกิดจากกุ้งถูกแช่แข็งใน อุณหภูมิติดลบเป็นเวลานาน จนกระทั่งเกิดการสูญเสียน้ำจากเปลือกจนเห็นผลึกแคลเซียมชัดเจนขึ้นหรือเกิด เป็นจุดขาวบนเปลือกกุ้งนั้นเอง จากโจทย์วิจัยดังกล่าวนี้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ บริษัท CPF ได้ถึง 1,300 ล้านบาท
แก้ปัญหาลายไม้บนแผ่นเหล็กรีดร้อนของ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดรัสตรี จำกัด (มหาชน) (SSI): บริษัท SSI เป็นผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนรายแรกของประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตเหล็กแผ่นครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ในขั้นตอนการผลิตนั้นบริษัทพบว่า เหล็กม้วนประมาณ 30% เกิดลายที่มีลักษณะคล้ายลายไม้ขึ้น ในเบื้องต้นทางทีมวิจัยของบริษัทได้พยายามแก้ปัญหาหลากหลายแนวทาง แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาลายที่เกิดขึ้นได้ ทีมวิจัยของบริษัท SSI จึงได้นำปัญหานี้มาปรึกษากับทีมวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และร่วมกันแก้ปัญหา โดยวิธีการใช้รังสีเอกซ์ของแสงซินโครตรอนวิเคราะห์สาเหตุที่เกิดขึ้น และพบว่า ลายไม้นั้นเกิดจากสารเคมีที่อยู่ในกระบวนการผลิต ที่ตกค้างอยู่ที่ผิวของลูกรีด นำไปสู่การร่วมกันแก้ปัญหาล้างสารเคมีตกค้าง และแก้ปัญหาลายไม้บนแผ่นแหล็กรีดร้อนได้ในที่สุด จากการประสบความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้ทางบริษัท SSIและทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนทำงานวิจัยร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทางสถาบันได้วิเคราะห์หาสาเหตุของเหล็กที่มีผิวสีดำคล้ำและหาวิธีการ แก้ปัญหาให้กลับไปเป็นสีเหล็กธรรมชาติได้ อีกด้วย
การพัฒนาเม็ดพลาสติกด้วยแสงซินโครตรอนให้กับ บริษัท เอสซีจี เคมีคอลล์ จำกัด (มหาชน): บริษัท SCG Chemicals เป็นบริษัทที่มีความก้าวหน้าทางการวิจัยเป็นอย่างมาก ล่าสุดทางบริษัทได้พัฒนาปรับปรุงคุณภาพเม็ดพลาสติกสำหรับการนำไปขึ้นรูปเป็น ผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้า โดยเม็ดพลาสติกที่พัฒนาขึ้นนั้น ทางบริษัทต้องการผลการวิเคราะห์โครงสร้างในระดับโมเลกุล เพื่อยืนยันผลในการปรับปรุงคุณภาพเม็ดพลาสติกในแต่ละสูตร นำไปสู่การตีพิมพ์บทความในนิตยสารนานาชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นใบรับรองคุณภาพของเม็ดพลาสติกนั้นๆ อีกทางหนึ่ง
การแปรรูปกากมันสำปะหลัง เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้ง : มันสำปะหลัง ถือเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย ในขั้นตอนของการแปรรูปมันสำปะหลัง สุดท้ายจะเหลือกากมันที่ถือได้ว่าเป็นของทิ้งหรือใช้ผสมเป็นอาหารสัตว์ ปัจจุบันมีบริษัทแปรรูปมันสำปะหลัง ได้ศึกษาหาวิธีนำของเหลือทิ้งอย่างกากมันสำปะหลังกลับไปเป็นวัตถุดิบชนิด ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า อาทิ แปรรูปกากมันเป็นแป้งดัดแปรสำหรับใช้ผสมในอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย อีกหนึ่งบริษัทได้แปรรูปกากมันเป็นไฟเบอร์ละลายน้ำ สำหรับนำไปใช้ในอาหารควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัยที่ทำการแปรรูปกากมันสำปะหลังสำหรับใช้เป็น สารเคลือบยาปฏิชีวนะ ที่ควบคุมอัตราการปลดปล่อยตัวยาในร่างกาย ให้ออกฤทธิ์ตามเวลาที่กำหนด