B 007

 

2 บทความก่อนหน้านี้ได้พาไปเยือนเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน 2 แห่งในญี่ปุ่น ครั้งนี้เราจะกลับมาโฟกัสที่เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนของไทย ซึ่งการเดินทางครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดูงานของคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ คณะอนุกรรมการ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ระหว่างวันที่ 27 - 31 มีนาคม 2566


หลังจากเยี่ยมชมความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีซินโครตรอนของญี่ปุ่นแล้ว ทำให้ย้อนนึกถึงความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในส่วนของกระทรวง อว. ซึ่งมีโครงการความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (MEXT) ของญี่ปุ่น ใน 2 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาและผลิตวิศวกรนักปฏิบัติและนวัตกร ผ่านโครงการสถาบันไทยโคเซ็นที่ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องและจะมีบัณฑิตพร้อมเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมในต้นปี พ.ศ. 2567 และด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนากำลังคนชั้นสูง ผ่านการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่สองของประเทศไทย


ในส่วนของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ก็กำลังมีโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ (3 GeV) ของไทย กำลังจะสร้างขึ้นในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ชั้นสูง และการพัฒนากำลังคนทั้งวิทยาศาสตร์ วิศวกร และฝ่ายสนับสนุนงานวิชาการให้มีความเข้มแข็ง สามารถนำความรู้และประสบการณ์มาออกแบบและพัฒนาชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อประกอบเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนจากอุตสาหกรรมภายในประเทศให้ได้มากที่สุด โดยอาศัยการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำในด้านซินโครตรอนและไต้หวันที่มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับแผนการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่สองของไทย


นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือทางวิชาการเป็นอย่างดีจากเครือข่ายซินโครตรอน โดยปัจจุบันได้ออกแบบอาคาร ระบบเครื่องเร่งอนุภาค วงกักเก็บอิเล็กตรอน ระบบลำเลียงแสง และสถานีทดลอง ซึ่งอุตสาหกรรมในประเทศไทย จะมีศักยภาพเพียงพอในการก่อสร้างและผลิตชิ้นส่วน คิดเป็นมูลค่าประมาณกว่าร้อยละ 50 ของการลงทุนสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน และตอนนี้โครงการอยู่ในระหว่างการสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ EECi ต่อไป

 

 

 

บทความโดย
ดร.วสุพล รุ่งธนาภิรมย์
นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง ฝ่ายบริหารจัดการโครงการเครื่องกำเนิดแสงสยาม 2
เรียบเรียงโดย ส่วนสื่อสารองค์กร