ในคดีสืบสวนสอบสวนหลายคดีที่มีหลักฐานอยู่น้อยมากจนดูเหมือนไม่อาจแกะรอยเหตุอาชญากรรมได้นั้น เราสามารถใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์ตัวอย่างเพื่อนำไปสู่การไขคดีได้ อย่างกรณีการตายของ คอร์รีน เรย์นีย์ เจ้าหน้าที่หญิงของศาลฎีกาในออสเตรเลีย ที่พบเป็นศพถูกฝังภายในสวนสาธารณะเมื่อปี ค.ศ.2007 แม้จะสืบสวนนานเป็นปีตำรวจยังไม่สามารถฉายภาพเหตุการณ์ฆาตกรรมได้
แต่เจ้าหน้าที่พบเศษอิฐสีแดงที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าติดอยู่ที่เสื้อชั้นในของเธอ ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์หาธาตุองค์ประกอบด้วยเทคนิคการกระเจิงรังสีเอกซ์ เพื่อสืบหาว่า อิฐดังกล่าวมาจากที่ใด ข้อมูลนี้จะบ่งชี้สถานที่เกิดเหตุฆาตกรรม ทว่าเครื่องผลิตรังสีเอกซ์ในห้องปฏิบัติการอื่นนั้น มีความเข้มไม่เพียงพอที่จะแยกชนิดของธาตุในตัวอย่างเศษอิฐได้ อีกทั้งลักษณะตัวอย่างมีปริมาณน้อยมาก จึงต้องใช้รังสีเอกซ์จากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่มีพลังงานสูงกว่าเพื่อพิสูจน์หลักฐานนี้ ผลการวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอนพบว่า เศษอิฐดังกล่าวตรงกับอิฐปูถนนทางเข้าที่พักของเธอ ในที่สุดศาลออสเตรเลียได้ให้การยอมรับหลักฐานนี้ และนำไปสู่การไต่สวนพิจารณาคดีต่อไป
เรียบเรียงจากบทความ Cosmos Magazine โดย Viviane Richter
https://cosmosmagazine.com/technology/synchrotron-helps-clear-cold-case-file/