“เมืองจูลิโอโปลิส” (Juliopolis) เป็นเมืองโบราณ ที่ปัจจุบันอยู่ในเขตนัลลิฮาน ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือจากเมืองหลวงอังคารา ประเทศตุรกี และเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ผ่านหลายยุคสมัยตั้งแต่ยุคเฮลเลนิสติก โรมัน จนถึงยุคไบแซนไทน์ อีกทั้งเป็นหนึ่งในเมืองท่าสำคัญที่อยู่บนเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์คือ เส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าในอดีตของจีนกับชาติตะวันตก เมืองนี้จึงเป็นสภาพเมืองที่มีความหลากหลายสูงจากกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ ที่มาค้าขายบนเส้นทางนั้น
ในเมืองจูลิโอโปลิสพบหลุมฝังศพกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปกว่า 700 แห่ง โดยหนึ่งในหลุมศพเหล่านั้นถูกระบุให้เป็นหลุมฝังศพหมายเลข M196 ซึ่งเป็นหลุมฝังศพที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะศพมนุษย์อายุราว 2,000 ปีอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์และยังมีเส้นผมหลงเหลืออยู่ นอกจากเส้นผมของมนุษย์โบราณจะเป็นสิ่งที่หายากมากแล้ว เส้นผมยังสามารถบ่งชี้ข้อมูลสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ เช่น อาหารที่รับประทานและโภชนาการ ความเป็นมาเชิงพื้นที่ พันธุกรรมเก่าแก่ การใช้โลหะประเภทต่าง ๆ รวมทั้งการใช้ชีวิตในแต่ละยุคสมัย ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาชีวประวัติของมนุษย์ รวมทั้งให้คำตอบแก่คำถามเชิงโบราณคดี การวิเคราะห์องค์ประกอบในตัวอย่างที่มีปริมาณน้อยและการเสื่อมสภาพง่าย ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญสำหรับการรักษาสภาพของตัวอย่างเชิงโบราณคดี
.
ทีมนักวิจัยสนใจศึกษาองค์ประกอบชีวโมเลกุลในเส้นผมมนุษย์จากยุคโรมัน จึงใช้กลุ่มตัวอย่างเส้นผมจากหลุมฝังศพหมายเลข M196 ในบริเวณเมืองโบราณจูลิโอโปลิส เพื่อเปรียบเทียบองค์ประกอบชีวเคมีกับเส้นผมของมนุษย์ยุคปัจจุบัน ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่ พิธีกรรมการฝังศพ การทำมัมมี่ให้ศพและกระบวนการจัดการศพในอดีต อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารประกอบชีวเคมีในเส้นผมยุคโบราณ และส่งผลให้เกิดจากการเสื่อมสภาพทางชีวภาพได้ แต่การศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางชีวโมเลกุลของเส้นผมโบราณยังค่อนข้างจำกัด เมื่อเทียบกับการศึกษาชีวโมเลกุลในฟันโบราณและกระดูกโบราณที่มีการศึกษาอย่างแพร่หลายมากกว่า
.
จนถึงปัจจุบันการศึกษาการเสื่อมสภาพของเส้นผมมนุษย์โบราณนั้นมีเพียงการสำรวจในระดับผิวภายนอกของเส้นผมเท่านั้น ดังนั้น ทีมวิจัยจึงใช้รังสีย่านอินฟราเรดจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน SESAME ณ ประเทศจอร์แดน ศึกษาส่วนประกอบของเส้นผมที่ลงลึกถึงระดับชีวโมเลกุล ผลการศึกษาพบว่าเคราตินและโครงสร้างทุติยภูมิของโปรตีนจากตัวอย่างหลุมฝังศพหมายเลข M196 นั้นเสื่อมสภาพมากกว่าตัวอย่างเส้นผมปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลทางด้านองค์ประกอบเคมี ชีวโมเลกุล และองค์ประกอบภายในเส้นผมจากเทคนิคการวัดด้วยอินฟราเรดนี้ ยังช่วยจุดประกายให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์ประกอบชีวโมเลกุลอื่น ๆ เช่น ไอโซโทปคาร์บอน และไนโตรเจน เป็นต้น เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการ และดีเอ็นเอโบราณ (aDNA) ของมนุษย์ในอดีตอีกด้วย
SR-FTIR เปิดเผยส่วนประกอบชีวโมเลกุลจากเส้นผมมนุษย์จากยุคโรมันช่วง Juliopolis
เรียบเรียงโดย ดร.จักรี์รดา อัตตรัถยา/ส่วนสื่อสารองค์กร
ที่มา Lorentz et.al. (2022) https://doi.org/10.1016/j.saa.2022.121026