มะเกยง

            มะเกี๋ยง (Syzygium nervosum DC. var. paniala (Roxb) หรือ Cleistocalyx nervosum var. paniala) เป็นไม้ยืนต้นพบมากในป่าทางภาคเหนือของไทย อยู่ในวงศ์ Myrtaceae เช่นเดียวกับลูกหว้าขาว (Cleistocalyx nervosum var. nervosum) ต่างกันที่จำนวนดอกในช่อดอกของมะเกี๋ยงมี 3 ดอกขณะที่ดอกลูกหว้ามีจำนวนมากกว่าแต่มีขนาดเล็กกว่า นับเป็นผลไม้พื้นบ้านทางภาคเหนือมีรสชาติเปรี้ยวอมหวานเมื่อผลสุกแล้วจะเสียง่าย ชาวบ้านนิยมนำมารับประทานสด ใส่ต้มยำ และแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ ไวน์ แยม มะเกี๋ยงแช่อิ่ม เป็นต้น

 1

รูปที่ 1 ภาพผลมะเกี๋ยงและหว้าขาวจากหนังสือ “มะเกี๋ยง พืชอนุรักษ์ อพ.สธ.” มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (2558)

          มะเกี๋ยงได้รับการสำรวจและรวบรวมสายพันธุ์ครั้งแรกในช่วงปี พศ. 2537 - 2538 ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ต่อมาได้รับการอนุรักษ์และศึกษาข้อมูลในด้านต่างๆ เช่น ลักษณะสัณฐานวิทยา ต้น ใบ ดอก ผล และเมล็ด องค์ประกอบทางเคมี คุณค่าทางโภชนาการ กายวิภาควิทยา โครโมโซม การคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม การขยายพันธุ์ และการเขตกรรมจนนำไปสู่การขึ้นทะเบียนสายพันธุ์มะเกี๋ยงกับกรมวิชาการเกษตรตั้งแต่ปี พศ. 2556 และมีการศึกษาวิจัยข้อมูลพื้นฐานเพื่อขอขึ้นทะเบียนสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีแหล่งเพาะปลูกต้นกำเนิดและลักษณะเด่น เช่น สี รสชาติ รวมทั้งองค์ประกอบทางเคมีและชีวเคมีที่เป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบันมะเกี๋ยงได้รับการส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคเหนือเพาะปลูกตามสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ทั้งนี้การนำไปแปรรูปด้านอาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และเครื่องสำอางในเชิงพาณิชย์นั้นจึงขึ้นอยู่กับการเลือกใช้สายพันธุ์ที่เหมาะสมแตกต่างกัน

          สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมกับบริษัท เสริมพิสิทธิ์ จำกัด และ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ได้ใช้เทคนิค micro beam X-ray fluorescence spectroscopy (m-XRF) โดยใช้แสงซินโครตรอนที่ระบบลำเลียงแสงที่ 6 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จังหวัดนครราชสีมา เพื่อระบุชนิดและการกระจายตัวของธาตุองค์ประกอบในผลมะเกี๋ยงสุกสีม่วงเข้ม สายพันธุ์ ต1185 ที่ปลูกในแปลงทดทดสอบและอนุรักษ์พันธุ์มะเกี๋ยงของมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ พบว่าในเนื้อผลมะเกี๋ยงสุกอุดมไปด้วยธาตุโพแทสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) แมงกานีส (Mn) และธาตุเหล็ก (Fe) ที่จำเป็นต่อร่างกายในการควบคุมความดันกระแสโลหิต ความแข็งแรงของโครงสร้างกระดูกและฟัน ระบบย่อยอาหารและการทำงานของระบบประสาท นอกจากนี้ยังพบการสะสมแมงกานีส (Mn) และธาตุเหล็ก (Fe) ปริมาณสูงในเมล็ดอีกด้วย ข้อมูลนี้จึงถูกนำไปใช้เป็นตัวแปรในการนำผลมะเกี๋ยงสุกไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ให้เหมาะสมได้มากยิ่งขึ้น

2

รูปที่ 2 แสดงผลการวิเคราะห์กระจายตัวของธาตุองค์ประกอบที่มีอยู่ในผลมะเกี๋ยงสุก สายพันธุ์ ต1185 สีม่วงเข้ม ปริมาณของแต่ละธาตุแสดงค่าแทนด้วยสีโดยสีแดงมีค่าสูงสุดและสีน้ำเงินมีค่าต่ำสุด กราฟแท่งล่างซ้ายเปรียบเทียบความเข้มแสงของธาตุที่วัดได้จากตัวอย่าง

เอกสารอ้างอิง : หนังสือ “มะเกี๋ยง พืชอนุรักษ์ อพ.สธ.” โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, 2558

ผู้วิจัยและเรียบเรียงบทความ : ดร. บัวบาล กัวประเสริฐ นายอนุชา ศึกขยาด ดร.กรองทอง กมลสรวงเกษม นายธวัชชัย ชัยธวัชวิถี นายกิติพงษ์ วุฒิญาณ และ นายบุญเสริม ใจดีเฉย