225430556 4291835987530379 48473167931689940 n

 

นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และนักวิจัยจากภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมศึกษาและค้นหาสารออกฤทธิ์จากสมุนไพรไทยเพื่อยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ด้วยเทคนิคการคัดสรรสารยับยั้งแบบสามมิติเสมือนจริงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (GOLD 3D molecular docking) จากฐานข้อมูลโครงสร้างสามมิติสารออกฤทธิ์จากสมุนไพรไทย (chemibase โดย ผศ.ดร.จักร แสงมา) โดยใช้บริเวณจับของสารยับยั้งชนิด N3 ที่อยู่บนโครงสร้างของเอนไซม์โปรติเอสของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19 protease; PDB ID 6UL7) เป็นต้นแบบ โครงสร้างของเอนไซม์นี้เป็นผลงานตีพิมพ์ของทีมวิจัยชาวจีนเมื่อต้นปี พ.ศ.2563

 ผลจากการศึกษาการคัดสรรสารยับยั้งแบบสามมิติด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์บนโครงสร้างสามมิติของเอนไซม์โควิด-19 แล้วนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเอนไซม์นี้ในหลอดทดลอง พบว่ามีสารออกฤทธิ์อย่างน้อย 4 ชนิดจากมังคุด ขมิ้นชัน ชะมวง และทองพันชั่ง ที่มีศักยภาพสูงในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ข้างต้น ส่วนความคืบหน้าล่าสุดขณะนี้ทีมวิจัยกำลังศึกษารูปแบบการจับของสารเหล่านั้นบนโครงสร้างโปรตีนนี้โดยใช้เทคนิค Protein Crystallography ด้วยแสงซินโครตรอน

217392174 4290305637683414 9022414934966794952 n
ภาพประกอบแสดงบริเวณที่สารออกฤทธิ์ทั้ง 4 ชนิด (แสดงด้วยแท่งสีเขียว แดง และน้ำเงิน แทนอะตอม C, O และ N ในโครงสร้างเคมี) จับอยู่บนโครงสร้างโปรตีน COVID-19 Mpro ในบริเวณเดียวกันกับ N3 ในมุมมองเดียวกัน แถวบนแสดงโครงสร้างโปรตีนแบบ ribbon โดยสีฟ้า ม่วง และชมพูแทนโครงสร้างโปรตีนแบบ α-helix, β-sheet และ random coils แถวล่างแสดงโครงสร้างโปรตีนแบบ solvent-accessible surface สีน้ำเงินและแดงแทนพื้นผิวที่มีประจุบวกและลบ ส่วนสีขาวแทนพื้นผิวที่ไม่ชอบน้ำ ค่า docked score บอกถึงความความสามารถในการจับกันระหว่างโปรตีนกับสารยับยั้งทางทฤษฎี


บทความโดย ดร.บัวบาล กัวประเสริฐ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง

***

เอกสารอ้างอิง :

Jin, Z., Du, X., Xu, Y., Deng, Y., Liu, M., Zhao, Y., Zhang, B., Li, X., Zhang, L., Peng, C., et al. (2020). Structure of Mpro from SARS-CoV-2 and discovery of its inhibitors. Nature 582, 289–293.