“แจง” เป็นไม้ต้น มีการกระจายพันธุ์ตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และเขาหินปูน มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Maerua siamensis (Kurz) Pax (เมรัว สยามเอ็นซิส) ซึ่งการมีคำว่า “สยาม” ในชื่อนี้บ่งชี้ว่าในประเทศไทยพบแจงเพียงชนิดเดียว ต่อมาได้มีการค้นพบพรรณไม้ที่มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายกับ “แจงสยาม” โดยทีมนักวิจัยศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.-มทส.) ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ค้นพบแจงชนิดใหม่ของโลกที่มีการกระจายพันธุ์เฉพาะในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว และอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา
แจงชนิดใหม่ดังกล่าวมีลักษณะสัณฐานวิทยาของใบ และลักษณะวิสัยแตกต่างจากแจงสยาม แต่มีลักษณะช่อดอกและดอกย่อยคล้ายกัน ซึ่งเป็นลักษณะสัณฐานวิทยาที่สำคัญที่บ่งบอกว่าเป็นพืชสกุลเดียวกัน ดร.ปรัชญา ศรีสง่า นักพฤกษศาสตร์ จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ และ รศ.ดร.สันติ วัฒฐานะ นักพฤกษศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ร่วมกันตรวจสอบชื่อทางพฤษศาสตร์ พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก เมื่อปี พ.ศ. 2564 และตั้งชื่อทางพฤษศาสตร์ว่า Maerea koratensis Srisanga & Watthana (เมรัว โคราชเทนซิส ศรีสง่า & วัฒฐานะ) และตั้งชื่อไทยว่า “แจงสุรนารี” เพื่อระลึกถึงท้าวสุรนารี และเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำหรับลักษณะของแจงสุรนารีนั้นเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย เจริญเติบโตช้า อยู่ในป่าเบญจพรรณที่แห้งแล้ง และถือเป็นพืชป่าเฉพาะถิ่นที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ความเป็นเอกลักษณ์ของเมล็ดแจงสุรนารี ด้วยการใช้รังสีอินฟราเรดจากแสงซินโครตรอนวิเคราะห์ด้วยเทคนิค SR IR microspectroscopy โดยเปรียบเทียบเมล็ดแจงสุรนารีกับเมล็ดแจงสยาม ตัวอย่างของเมล็ดแจงสุรนารีและแจงสยามนั้นเก็บตัวอย่างจากในพื้นที่ ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ผลการวิเคราะห์พบว่า เมล็ดแจงสุรนารีนั้น มีปริมาณไขมันที่สูงกว่าเมล็ดแจงสยาม ขณะที่เมล็ดแจงสยามมีปริมาณโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตที่สูงกว่า
ข้อมูลเบื้องต้นนี้จะเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่จะทำให้ทราบถึงข้อมูลพื้นฐานของแจงสุรนารีที่เป็นพืชเฉพาะถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาเชิงลึก อาทิ การศึกษาในส่วนอื่น ๆ ของแจงสุรนารี รวมถึงการศึกษาถึงสารออกฤทธิ์สำคัญต่าง ๆ เช่น หาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวมและสารประกอบฟลาโวนอยด์ที่เป็นสารต้านอนมูลอิสระ หรือหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อพัฒนาเป็นเวชภัณฑ์หรือเวชสำอาง เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับและพัฒนาพืชสมุนไพรของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงต่อไป
บทความโดย
รศ.ดร.อมรรัตน์ โมฬี ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
เรียบเรียงโดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ภาพประกอบแจงสุรนารีทั้งหมด จาก อพ.สธ.มทส.
ดอกแจงสุรนารี
แจงสุรนารีกำลังติดฝัก
เมล็ดแจงสยาม (ดำ) เมล็ดแจงสุรนารี (ขาว)
แจงสุรนารีเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย