รังนกจัดเป็นหนึ่งในอาหารเสริมที่มีคุณสมบัติเป็นอาหารฟังก์ชัน (functional food) ที่นิยมบริโภคในแถบเอเชีย โดยเฉพาะชาวไทย และ จีน เนื่องจากมีสารประกอบทางชีวเคมีที่มีคุณค่าต่อร่างกาย เช่น สารที่มีฤทธิ์คล้ายกับ Epidermal growth factor (EGF) ที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาว (leucocyte) ในน้ำเหลืองมนุษย์ให้ผลิตและสังเคราะห์สารต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและไวรัส และยังมีสาร N-acetyl neuraminic acid ที่ช่วยส่งเสริมให้ผิวพรรณสดใส บรรเทาอาการไอ เจ็บคอและยังช่วยบำรุงปอดและหลอดลม รวมถึงกรดเซียลิค (sialic acid) ที่มีส่วนช่วยในการสนับสนุนด้านความจำและการพัฒนาสมองอีกด้วย ดังนั้นรังนกจึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในการส่งออกจากไทยไปยังทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศจีน
เนื่องจากรังนกมีราคาแพงและหาได้ยาก จึงมักพบว่ามีการนำสารมาปลอมปนในรังนก เช่น ไข่ขาว เห็ดหูหนูขาว หนังหมู วุ้น เจลาติน และ ยางคามายา จากต้นสุพรรณิการ์
นักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ร่วมกับ ดร. กรกันยา ประทุมยศ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ใช้เทคนิคซินโครตรอนอินฟราเรด (SR) ที่มีความเข้มและความสว่างมากกว่าแหล่งกำเนิดแสงทั่วไป ทำให้สามารถวิเคราะห์ตัวอย่างได้ในรายละเอียดเชิงพื้นที่ 10 ไมโครเมตร ซึ่งช่วยในการตรวจอัตลักษณ์รังนกว่าเป็นรักนกแท้หรือรังนกเทียม และยังสามารถตรวจระบุชนิดของสิ่งปลอมปนในรังนกได้อีกด้วย โดยรังนกแท้จะมีลักษณะพิเศษในรูปแบบของลายพิมพ์อินฟราเรดสเปคตรัม เช่น โปรตีน ไขมัน และ คาร์บอไฮเดรตที่มีเอกลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างจากวัสดุปลอมปลอมชนิดอื่นอย่างชัดเจน จุดเด่นของเทคนิคนี้คือตัวอย่างจะไม่ถูกทำลาย และสามารถตรวจพบการปลอมปนได้ในระดับไมครอน
บทความโดย
ดร.ศิริวรรณ ณะวงษ์, ดร.กาญจนา ธรรมนู
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
ดร.กรกันยา ประทุมยศ
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี