1

          นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มุ่งพัฒนาแก้วหน้าที่พิเศษขั้นสูงเพื่อแบตเตอรี่และการกักเก็บพลังงานแห่งอนาคต โดยศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของแก้วและโครงสร้างแก้วที่มีผลต่อสมบัติเหมาะต่อการผลิตเป็นขั้วแบตเตอรี่ลิเทียม พร้อมจัดแสดงที่ "มหกรรมงานวิจัย 64"

          ดร.พินิจ กิจขุนทด นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พัฒนาแก้วหน้าที่พิเศษขั้นสูง เพื่อการกักเก็บพลังงานสะอาดแห่งอนาคต และได้รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2563 ประเภทรางวัลผลงานวิจัย พร้อมกันนี้ได้จัดแสดงภายในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 22 -26 พฤศจิกายน 2564 ที่ รร.เซนทารา @central world

          ปัจจุบันมีนักวิจัยให้ความสนใจในการพัฒนาแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น โดยการพัฒนาส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ระยะเวลาการใช้งานที่ยาวนานขึ้น มีความจุที่มากขึ้น และมีความปลอดภัยในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาแบตเตอรี่ให้สามารถใช้งานได้ดีขึ้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาวัสดุทุกส่วน ส่วนประกอบหลักๆ ของแบตเตอรี่ลิเทียมที่นิยมในปัจจุบัน คือ วัสดุแคโทด วัสดุอิเล็กโทรไลต์ และวัสดุแอโนด

         งานวิจัยของ ดร.พินิจ มุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุแคโทดสำหรับแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนระหว่างโครงสร้างแก้วกับองค์ประกอบทางเคมีของแก้ว ซึ่งยังไม่เป็นที่ศึกษาแพร่หลายมากนัก ดังนั้นการพัฒนาวัสดุชนิดนี้อย่างยั่งยืนและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านโครงสร้างของวัสดุแก้วจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ จึงมุ่งหวังที่จะศึกษาผลขององค์ประกอบทางเคมีของแก้วต่อโครงสร้างแก้วและศึกษาชนิดของโครงสร้างแก้วที่ทำให้สมบัติของแก้วเหมาะสมกับการใช้เป็นวัสดุแคโทดสำหรับแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาวัสดุชนิดนี้ไปสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป