การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประสิทธิภาพการใช้อาหารและองค์ประกอบทางเคมีในเนื้อไก่โคราชเพศผู้ ด้วยเทคนิค Synchrotron Fourier-Transform Infrared (SR-FTIR) Microspectroscopy
ปัจจุบันอุตสาหกรรมสัตว์ปีกกำลังเผชิญกับปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง, พืชอาหารสัตว์ถูกนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน และพื้นที่ในการเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ลดลงประกอบกับผู้บริโภคเนื้อไก่มีความต้องการเนื้อที่มีรสชาติอร่อย รสสัมผัสดี มีคุณค่าทางโปรตีนสูง และมีไขมัน ดังนั้นการปรับปรุงพันธุ์ไก่โคราชให้มีศักยภาพในการใช้อาหารสูงขึ้น และสามารถรักษาคุณภาพเนื้อที่สนองโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
รองศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ โมฬี อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัฒกรรมทางสัตว์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นางสาวโชติมา ภูมิประหมัน นักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัฒกรรมทางสัตว์ นางสาวปรามินทร์ แก้วสะเทือน นักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสัตว์ และ ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมกันศึกษาการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีในเนื้ออกและเนื้อสะโพก ระหว่างไก่โคราชเพศผู้ที่มีประสิทธิภาพการใช้อาหารต่ำกับที่มีประสิทธิภาพการใช้อาหารสูง ด้วยเทคนิค Synchrotron Fourier-Transform Infrared (SR-FTIR) ในการตรวจวัดค่าองค์ประกอบทางเคมีในเนื้อไก่ เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประสิทธิภาพการใช้อาหารกับองค์ประกอบทางเคมีในเนื้ออกและเนื้อสะโพกไก่โคราชเพศผู้ สำหรับการนำไปใช้ในการกำหนดทิศทางวางแผนการปรับปรุงพันธุ์
จากผลการศึกษาพบว่า ในเนื้ออกไก่ หากปรับปรุงพันธุ์ให้มีประสิทธิภาพการใช้อาหารดี จะมีสัดส่วนปริมาณไขมัน คอลลาเจน คาร์โบไฮเดรตและไกลโคเจนสูง ส่วนเนื้อสะโพก สัดส่วนปริมาณไขมันจะสูงขึ้น และปริมาณคาร์โบไฮเดรตและไกลโคเจนลดลง ซึ่งผลที่ได้นี้นำไปสู่ประเด็นในการศึกษาต่อว่า ควรปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้อาหารในไก่โคราชเป็นระดับใดที่จะเหมาะสม และยังคงรักษาคุณภาพขององค์ประกอบทางเคมีไว้ในระดับที่ผู้บริโภคยอมรับได้ต่อไป