บานเชยง1

รูปภาพจาก : Brian Hoffman

นักวิจัยไทยใช้เทคโนโลยี “แสงซินโครตรอน” พิสูจน์วัตถุโบราณ เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง มรดกโลก อายุกว่า 3,500 ปี ของปลอมหรือจริงได้อย่างแม่นยำ เผยใช้เทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ ร่วมกับเทคนิคดูดกลืนรังสีเอกซ์วิเคราะห์ องค์ประกอบทางเคมีของเนื้อดินและสี นำไปสู่วิธีการแยกแยะเครื่องปั้นดินเผาของแท้หรือทำเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ   

Dr Prapong Klysubunดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยว่า  “ปัจจุบันได้มีการนำแสงซินโครตรอนมาใช้ในการวิจัยด้านโบราณคดีอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป เนื่องจากเทคนิคการทดลองที่ใช้แสงซินโครตรอนสามารถบอกให้รู้ถึงองค์ประกอบและโครงสร้างของวัตถุได้โดยไม่ทำลายชิ้นงานให้เสียหายหรือมีผลอื่นใดต่อวัตถุที่นำมาศึกษา ทำให้เหมาะที่จะนำแสงซินโครตรอนไปใช้ในการศึกษาวัตถุโบราณหรือวัตถุที่มีคุณค่าและมูลค่าสูงอื่น ๆ ได้ สำหรับประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีการนำแสงซินโครตรอนมาใช้ในการศึกษาด้านโบราณคดีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

ที่ผ่านมาสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ทำการศึกษาคุณสมบัติของกระจกเกรียบโบราณด้วยแสงซินโครตรอน ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้คณะวิจัยของสถาบันนำตัวอย่างกระจกเกรียบโบราณจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามมาดำเนินการศึกษา เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีว่า กระจกแต่ละสีประกอบด้วยธาตุชนิดใดบ้าง และมีปริมาณเท่าไร จนประสบความสำเร็จสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยมาสังเคราะห์กระจกใหม่ที่มีคุณสมบัติเหมือนของเดิมทุกประการ เพื่อใช้สำหรับงานบูรณปฏิสังขรณ์ในอนาคต”

ดร.ประพงษ์  กล่าวต่อว่า  “ล่าสุดทีมงานนักวิจัย ได้ทำการศึกษาวิจัยเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง  จังหวัดอุดรธานี ซึ่งบ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่งที่ให้ความรู้อย่างมาก เกี่ยวกับพัฒนาการของสังคมและวัฒนธรรมสมัยโบราณเมื่อหลายพันปีมาแล้วในประเทศไทย สิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังบ้านเชียงก็คือ เรื่องราวอันเกี่ยวกับอดีตของพื้นที่นี้ โดยเฉพาะเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีการจัดแสดงไว้เป็นพิพิธภัณฑสถาน 2 แห่ง คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง และพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้งที่วัดโพธิ์ศรีใน เมื่อประมาณ พ.ศ.2515 ได้เริ่มมีการสังเกตพบโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่เนินของหมู่บ้านและส่งผลให้มีการศึกษาทางโบราณคดี จนได้ทราบว่าความจริงแล้วพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของบ้านเชียงปัจจุบัน เคยมีคนตั้งถิ่นฐานมาแล้วก่อนประวัติศาสตร์เมื่อหลายพันปีก่อน โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งเขียนเป็นลายสีแดง โครงกระดูก เครื่องมือที่ทำด้วยหินและสำริด และเหล็ก โดยเฉพาะภาชนะดินเผาเขียนเป็นลายสีแดงนั้นเป็นโบราณวัตถุที่มีลักษณะเด่นมากเนื่องจากเพิ่งมีการพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย”

บานเชยง2 วตถโบราณบานเชยง

                                รูปภาพจาก : Paul Bennett                                                      รูปภาพจาก : สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน

สำหรับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยและของโลก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2535  เนื่องจากพบหลักฐานที่แสดงถึงอารยธรรมชุมชนโบราณซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในยุคโลหะที่มีอายุกว่า 3,500 ปี มีหลักฐานที่บ่งบอกถึงการมีวัฒนธรรม ขนบประเพณี และภูมิปัญญาในหลาย ๆ ด้าน ในแหล่งโบราณคดีนี้นักโบราณคดีได้ขุดค้นพบหลุมศพของชาวบ้านเชียงโบราณซึ่งมีประเพณีฝังศพที่จะทำการฝังสิ่งของเครื่องใช้ เป็นการอุทิศให้กับผู้ตายด้วย ภายในหลุมศพเหล่านี้จึงพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากสำริดและเหล็ก เช่น ใบหอก ใบขวาน มีด เครื่องประดับลูกปัดที่ทำจากหินและแก้ว เศษผ้า และที่สำคัญคือภาชนะเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่มีการเขียนสีเป็นลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในนาม “เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง”

“ทั้งนี้เนื่องจากเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงมีความงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงเป็นที่ต้องการของผู้ที่สนใจและนักสะสม ทำให้เกิดการทำเทียมเลียนแบบขึ้นเป็นจำนวนมาก การทำเทียมเหล่านี้ได้มีการพัฒนาเทคนิคจนสามารถทำให้ดูเหมือนของแท้ รวมไปถึงการทำให้ดูเหมือนเก่าด้วย ซึ่งการพิสูจน์ความเป็นของแท้นั้นทำได้ยากและต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์อย่างมากเท่านั้น

สถาบนวจยแสงซนโครตรอน1

ห้องปฏิบัตการแสงสยาม

ดังนั้นกรมศิลปากร ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ศึกษาวิจัยคุณสมบัติของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงด้วยแสงซินโครตรอน ทั้งในส่วนของเนื้อดินและสีที่เขียนเป็นลวดลาย  เพื่อนำไปแยกแยะความแตกต่างระหว่างเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงของแท้และของที่ทำเลียนแบบขึ้นมา และได้มาซึ่งองค์ความรู้ในการพิสูจน์ความเป็นของแท้ของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงโดยใช้เทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ ร่วมกับเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ในการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของเนื้อดินและสี นำไปสู่การพัฒนาวิธีการแยกแยะเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงของแท้และของทำเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.ประพงษ์กล่าวในตอนท้าย

 

ผู้ประสานงาน น.ส.ศศิพันธุ์ ไตรทาน, น.ส.กุลธิดา พิทยาภรณ์
เบอร์โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1251-2 โทรสาร 0-4421-7047

อีเมลล์: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it., This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it., This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.