Screenshot 8

การสังเคราะห์ฟิล์มบางคาร์บอนคล้ายเพชร (Diamond-Like Carbon: DLC) บนวัสดุพื้นต่าง ๆ จะต้องเลือกเทคนิคที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ฟิล์มที่มีคุณสมบัติที่ดีและสามารถนำไปใช้งานได้จริง

วิธีการสังเคราะห์ฟิล์มชนิดนี้ที่ได้รับความนิยมคือ “วิธีเพิ่มการตกสะสมด้วยพลาสมาจากไอระเหยทางเคมีในย่านความถี่วิทยุ” ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกเลือกในงานวิจัยนี้ ฟิล์ม DLC ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ และบรรจุภัณฑ์ของอาหาร การใช้งานที่หลากหลายของฟิล์มชนิดนี้แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติที่ดีเยี่ยมของฟิล์ม ซึ่งคุณสมบัติที่ดีเยี่ยมของฟิล์มขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น วิธีการสังเคราะห์ ส่วนผสมสารตั้งต้น อุณหภูมิ เวลาในการสังเคราะห์ ฯลฯ โดยวิธีการสังเคราะห์ฟิล์มที่ต่างกันก็จะส่งผลให้โครงสร้างของฟิล์มมีความแตกต่างกัน ด้วยโครงสร้างทางเคมีของฟิล์ม DLC มีความซับซ้อน จึงต้องอาศัยเทคนิคการวิเคราะห์ขั้นสูง ณ ห้องปฏิบัติการวิจัยแสงสยาม คือ “เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ย่านพลังงานต่ำ (Near Edge X-ray Absorption Fine Structure: NEXAFS)” ซึ่งเทคนิคนี้สามารถวิเคราะห์สมบัติของฟิล์มได้ทั้งในเชิงคุณภาพ (Qualitative analysis) และเชิงปริมาณ (Quantitative analysis) ทั้งนี้ โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนการบูรณาการเทคโนโลยีจาก บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด

dlc

คณะวิจัยโครงการฯ

ดร.ศรายุทธ ตั้นมี ดร.ชนรรค์ เอื้อรักสกุล และนายอุกฤษฏ์ ฤทธิหงส์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)