ดร.กาญจนา ธรรมนู สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยโรคตับที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา สามารถทำการรักษาได้โดยการปลูกถ่ายอวัยวะ อย่างไรก็ตามยังมีรายงานถึงผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนถ่ายตับเช่น ภาวะการต้านตับ (Rejection) นอกจากนั้นยังพบปัญหาการขาดแคลนอวัยวะ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสเต็มเซลล์เพื่อรักษาโรคตับเป็นความหวังที่สำคัญ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย คณะนักวิจัยได้ทำการกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) ให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ตับ และทำการทดสอบการจำแนกเซลล์ตับที่ได้โดยใช้เทคนิค FTIR microspectroscopy พบว่าเทคนิคนี้ให้ผลการคัดแยกเซลล์ได้ดี โดยข้อมูลเสปกตรัมจากกลุ่มของเซลล์ตับในระยะสุดท้ายสามารถจำแนกออกจากสเปกตรัมของตัวอย่างเซลล์ในระยะอื่นๆ ได้ในระดับความถูกต้อง 96 % จากลักษณะเฉพาะตัวของ IR spectrum ของตัวอย่างเซลล์ตับระยะสุดท้ายจะปรากฏยอดแหลมของข้อมูลalpha helix secondary structure ที่ตำแหน่ง 1653 cm-1 ในปริมาณที่สูง ซึ่งสามารถอธิบายผลในเชิงของการผลิตโปรตีนชนิดอัลบูมินที่สูงขึ้น เพื่อการทำหน้าที่ของเซลล์ตับที่สมบูรณ์
ภาพแสดงการจำแนกเซลล์ตับระยะสุดท้ายเทียบกับเซลล์ตับระยะเริ่มต้นและเซลล์ตั้งต้นโดยใช้เทคนิค
IR microspectroscopy ร่วมกับการทำ Multivariate data analysis
ภาพแสดงการสร้างฐานข้อมูลสเปคตรัมจากเซลล์ตับระยะสุดท้ายเทียบกับเซลล์ตับระยะเริ่มต้น
และเซลล์ตั้งต้น ซึ่งสามารถแยกความแตกต่างได้อย่างชัดเจน โดยให้ค่าความถูกต้องที่ระดับ 96 %
นอกจากนี้เทคนิค FTIR microspectroscopy ยังใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์สั้น และมีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างที่ไม่ยุ่งยาก ตัวอย่างไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการการใช้สารเคมีใด ๆ และผลที่ได้จะสามารถเชื่อมโยงไปสู่ประยุกต์ใช้ในการสร้างฐานข้อมูลการตรวจ จัดจำแนกเซลล์ตับที่ถูกต้องและสมบูรณ์จากเซลล์ตั้งต้นได้ ดังนั้นเทคนิค FTIR microspectroscopy จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเครื่องมือวิเคราะห์ เพื่อตรวจชี้หรือติดตามระยะการเจริญและพัฒนาการของเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์เป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว และสามารถช่วยลดข้อจำกัดในของการวิเคราะห์ทางชีวโมเลกุลซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง
เอกสารอ้างอิง
Thumanu K, Tanthanuch W, Yee D, Sangmalee A, Lorthongpanich C, Parnpai R, and Heraud P. (2011). Spectroscopic signature of mouse embryonic stem cells derived hepatocytes using Synchrotron FTIR microspectroscopy. J. of Biomedical Optics. 16, 057005 (May 23, 2011); doi:10.1117/1.3580253