ปัจจุบันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะภาวะโลกร้อนซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดสภาพภูมิอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงทั่วโลก จากปัญหาดังกล่าว นักวิจัยจึงมุ่งเป้าลดการปล่อย CO2 โดยนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเคมีภัณฑ์มูลค่าสูงและใช้เป็นพลังงานทดแทนจำพวกโอเลฟินส์และอัลกอฮอล์ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านธุรกิจและสร้างเสถียรภาพด้านวัตถุดิบได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามเนื่องจากปฏิกิริยานี้มีปฏิกิริยาที่เกิดแข่งขันจำนวนมากและต้องดำเนินการที่สภาวะความดันสูง (เป็นปฏิกิริยาที่โมลรวมของสารผลิตภัณฑ์ลดลง) และอุณหภูมิค่อนข้างสูง (ตามข้อมูลทางอุณหพลศาสตร์) ประกอบกับตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้มีสมบัติทางแม่เหล็กสูง ทำให้คณะผู้วิจัยนำสนามแม่เหล็กเข้ามาประยุกต์ในการควบคุมการเกิดปฏิกิริยา
จากการศึกษาผลของสนามแม่เหล็กที่มีต่อประสิทธิภาพการผลิตเมทานอลบนตัวเร่งเหล็ก-ทองแดงบนตัวรองรับอะลูมิโนซิลิเกตแบบ core–shell และ infiltrate ในปฏิกิริยาการเติมไฮโดรเจนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และติดตามผลการเปลี่ยนแปลงเฟสของตัวเร่งเหล็กและทองแดง แบบ in-situ ในช่วงอุณหภูมิ 50–480 องศาเซลเซียส ด้วยเทคนิคX-ray absorption near-edge structure (XANES) โดยใช้เครื่อง Time-resolved X-ray absorption spectroscopy (TRXAS) ซึ่งคณะผู้วิจัยดำเนินการร่วมกับดร. ยิ่งยศ ภู่อาภรณ์ นักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) พบว่าทองแดงออกไซด์ (CuO) ถูกรีดิวซ์เป็นทองแดง (Cu) ทั้งหมดที่อุณหภูมิ 150–200 องศาเซลเซียส ในขณะที่พบออกไซด์ของเหล็กในกลุ่มเฮมาไทต์ (Fe2O3) แมกนีไทต์ (Fe3O4) และไอรอนออกไซด์ (FeO) ในการรีดิวซ์ที่อุณหภูมิ 340–480 องศาเซลเซียส และพบเหล็ก (Fe) and FeO ในการรีดิวซ์ที่อุณหภูมิ480องศาเซลเซียส (รูปที่ 1) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยืนยันการเกิดเฟสผสมระหว่าง Fe และ FeO ระหว่างการเร่งปฏิกิริยาเติมไฮโดรเจนของCO2และพบว่า แม้ว่าทองแดงจะมีคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กอย่างอ่อนแบบ diamagnetism และมีทิศทางความเป็นแม่เหล็กตรงกันข้ามกับสนามแม่เหล็ก แต่เมื่ออยู่รวมกับเหล็กออกไซด์ภายใต้สนามแม่เหล็ก ตัวมันสามารถถูกเหนี่ยวนำและแสดงสมบัติความเป็นแม่เหล็ก ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเร่งปฏิกิริยาได้เป็นอย่างดีจากผลการศึกษาดังกล่าว พบว่าอัตราการแปลงผันของ CO2 บนตัวเร่งปฏิกิริยาภายใต้สภาวะที่มีความเข้มสนามแม่เหล็ก 27.7mT ที่อุณหภูมิ 260องศาเซลเซียส มากกว่าสภาวะที่ไม่มีแม่เหล็กถึง 1.5–1.8 เท่า โดยมีร้อยละการเลือกเกิดเมทานอลและ DME เพิ่มขึ้น 2.5-5.3 เท่าอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งว่องไวของตัวเร่งโลหะภายใต้สนามแม่เหล็ก ส่งผลให้เพิ่มขีดความสามารถในการดูดซับ CO2 และไฮโดรเจนบนพื้นผิวตัวเร่ง การประยุกต์ใช้สนามแม่เหล็กในการเร่งปฏิกิริยาดังกล่าวจึงมีศักยภาพสูงในการช่วยเสริมการใช้ประโยชน์ CO2 แบบเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon-neutral route) ได้เป็นอย่างดี
(a) (b)
รูปที่1 In situ Fe K-edge XANES spectra (ก่อนและหลังการรีดิวซ์) ของตัวเร่ง (a) 10Fe/core-shell mesoporous aluminosilicateและ (b) 10Fe-10Cu/core-shell mesoporous aluminosilicateและ spectra ของ iron standards
วสกร อุ้มชู1, ดร. ยิ่งยศ ภู่อาภรณ์2, ดร. วลีพร ดอนไพร1,3,และดร. เมตตา เจริญพานิช1,3
1ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
3ศูนย์เครือข่ายการวิจัยด้านตัวเร่งปฏิกิริยาและวัสดุนาโนเพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ