นักวิจัย มทส ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐธิญา เบือนสันเทียะ อาจารย์ประจำ และ อาจารย์ ดร. โสภณ วงศ์แก้ว อาจารย์พิเศษ จากสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมทั้งนางสาวรุ่งทิพย์ สังข์เผือก นักศึกษาปริญญาโทของสาขาวิชาฯ ร่วมกับ ดร. กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ประสบความสำเร็จ ในการนำเทคนิคกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด (FTIR microspectroscopy) ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนมาใช้ร่วมในการระบุชนิดเชื้อสาเหตุ "โรคแอนแทรคโนสของมันสำปะหลัง" โดยใช้วิธีมาตรฐานของการศึกษาเชื้อราระดับสัณฐานวิทยาและชีวโมเลกุลเป็นวิธีอ้างอิง
ปัจจุบันมีการพบการระบาดของโรคแอนแทรคโนสอย่างรุนแรงในมันสำปะหลังบางสายพันธุ์ อาทิ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และระยอง 72 หากโรคเกิดในมันสำปะหลังพันธุ์อ่อนแอมาก จะสังเกตเห็นลักษณะอาการยืนต้นตาย โดยจะพบมากในช่วงที่มันสำปะหลังมีอายุ 6-8 เดือน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิต
ทีมงานวิจัยฯ ได้เปิดเผยว่า จากตัวอย่างมันสำปะหลังที่แสดงอาการโรคแอนแทรคโนสที่เก็บจากแหล่งปลูกใน 10 อำเภอ ของ 8 จังหวัด พบว่าเชื้อสาเหตุส่วนใหญ่เป็น Colletotrichum gloeosporioides ซึ่งเป็นชนิดที่ได้เคยมีการรายงานไว้แล้ว โดยมีบางไอโซเลตที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเป็น C. gloeosporioides f. sp. manihotis จากขนาดของโคนิเดีย นอกจากนี้ยังพบเชื้อรา C. capsici (truncatum) และ C. lindemuthianum จากบางตัวอย่างด้วย การพบเชื้อ 2 ชนิดหลังนี้ในมันสำปะหลังนับเป็นการค้นพบครั้งแรกของโลก ขณะที่การพบชนิดย่อย (form species) aeschynomene และ boninense ของ C. gloeosporioides นับเป็นการพบครั้งแรก เพิ่มเติมจาก f. sp. manihotis ด้วยเช่นกัน
“การวิจัยดังกล่าวของทีมวิจัยฯ เป็นการพัฒนาใช้เทคนิคดั้งเดิมร่วมกับเทคนิคทางชีวโมเลกุลและเทคนิคกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด (FTIR microspectroscopy) ในการศึกษาเชื้อสาเหตุของโรคแอนแทรคโนส มันสำปะหลังซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการระบุชนิดของเชื้อสาเหตุอย่างชัดเจน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการวิจัย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการป้องกันกำจัดโรคดังกล่าวอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพในอนาคต” ผศ. ดร. ณัฐธิญา กล่าว
ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การประยุกต์ใช้กล้องจุลทรรศน์อินฟราเรดร่วมกับการวิเคราะห์ทางสถิติในการสร้างฐานข้อมูล เพื่อระบุชนิดของเชื้อราสาเหตุโรคแอนแทรคโนส พบว่าฐานข้อมูลสเปคตรัมอินฟราเรดสามารถใช้การระบุชนิดของเชื้อราโรคแอนแทรคโนสไอโซเลตอ้างอิง ได้ถูกต้องถึงร้อยละ 98 อีกทั้งเมื่อนำฐานข้อมูลดังกล่าวมาใช้ทดสอบจริงในการะบุชนิดของเชื้อราโรคแอนแทรคโนสจากแปลงมันสำปะหลัง พบว่าสามารถให้ความถูกต้องได้ร้อยละประมาณ 70 ซึ่งผลการทดลองสอดคล้องกับผลวิเคราะห์ทางชีวโมเลกุล อย่างไรก็ตามการศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาขั้นต้น จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อลดความผิดพลาดจากการวิเคราะห์ที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นการประยุกต์ใช้กล้องจุลทรรศน์อินฟราเรดนี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการระบุชนิดของเชื้อราโรคแอนแทรคโนสมันสำปะหลัง รวมทั้งเชื้อสาเหตุโรคพืชอื่นๆในอนาคต
ผลของงานวิจัยครั้งนี้บางส่วนได้รับการนำเสนอในที่ประชุมวิชาการและเผยแพร่ในวารสารที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติแล้ว นอกจากการวิจัยในเรื่องนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐธิญา เบือนสันเทียะ อาจารย์ ดร. โสภณ วงศ์แก้ว และทีมวิจัยยังคงทำการวิจัยเกี่ยวกับโรคมันสำปะหลัง ร่วมกับ ดร. กาญจนา ธรรมนู สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน อีกหลายโครงการ โดยเฉพาะ “โครงการโรคหัวและรากเน่าในมันสำปะหลัง” ซึ่งจัดเป็นโครงการเร่งด่วนของ Korat Tapioca Model เนื่องจากเป็นโรคที่มีความสำคัญมากที่สุดในขณะนี้