ผู้ร่วมโครงการ
ดร.ณัฐธิญา เบือนสันเทียะ, สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และศูนย์วิจัยมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน


 

 

         มันสำปะหลังถือเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมหาศาลในแต่ละปี จุดเด่นที่ทำให้มันสำปะหลังเป็นที่นิยมสำหรับสินค้าส่งออกก็คือ เป็นพืชไร่ที่มีกระบวนการผลิตที่สะอาด เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสินค้าสีเขียว ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ มันอัดเม็ด มันเส้น และแป้ง มันสำปะหลังเป็นที่นิยมปลูกอย่างมากในพื้นที่ตะออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา แต่การปลูกมันสำปะหลังก็พบปัญหามากมาย เช่น แมลง และโรคพืชต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคใบไหม้ ซึ่งมีการระบาดกันอย่างมากมาย อาการของโรคเริ่มแรกใบจะมีจุดเหลี่ยม ฉ่ำน้ำ ใบไหม้ เหี่ยวและจะหลุดร่วงในที่สุด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง เข้าทำลายและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในช่วงหน้าฝนโดยส่วนมากเมื่อเกษตรกรพบปัญหานี้ ก็จะใช้วิธีฉีดสารเคมีกำจัดโรค ซึ่งก็จะเกิดอันตรายต่อเกษตรกรรวมไปถึงผู้บริโภค และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
         มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ค้นพบว่า เมื่อนำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังแช่ในเชื้อแบคทีเรียบาซิลัส อไมโลไลเควฟาเซียน  (Bacillus amyloliquefaciens) ปรากฏว่าสามารถทำให้มันสำปะหลังต่อต้านเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคใบไหม้ได้ นอกจากนั้นยังทำให้ ราก ลำต้น และยอดมันสำปะหลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วอีกด้วย ซึ่งจากการวิเคราะห์เซลล์ของใบมันสำปะหลังโดยใช้แสงอินฟราเรด สามารถบอกความแตกต่างของใบจากท่อนพันธุ์ก่อนและหลังการแช่ในเชื้อแบคทีเรีย และยังพบว่าเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวยังช่วยทำให้ปุ๋ยหรือธาตุอาหารที่สะสมอยู่ในดินเปลี่ยนเป็นสารอาหารที่พืชสามารถดูดนำไปใช้ได้ ส่งผลให้มันสำปะหลังเจริญเติบโตและแข็งแรง เป็นการเพิ่มปริมาณผลผลิตและแป้งของมันสำปะหลัง และเมื่อนำผลการศึกษาไปใช้จริงในแปลงปลูกมันสำปะหลัง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา พบว่า สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากถึง 30%

O
ลักษณะอาการของโรคใบไหม้มันสำปะหลัง เริ่มแรกแสดงอาการใบจุดเหลี่ยม ฉ่ำน้ำ ใบไหม้ เหี่ยวและจะหลุดร่วงในที่สุด


Host by www.slri.or.th

(ซ้าย) หัวมันสำปะหลังอายุ 6 เดือน ที่ผ่านการแช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูกด้วยเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ สามารถกระตุ้นให้ต้นมันสำปะหลังมีการเจริญเติบโตดีและเพิ่มปริมาณจำนวนหัวมันสำปะหลัง รวมทั้งชักนำภูมิต้านทานพืชต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรคใบไหม้มันสำปะหลัง
(ขวา) หัวมันสำปะหลังที่ไม่ผ่านการแช่ท่อนพันธุ์ พบว่า หัวไม่ดก การเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ และอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของโรคใบไหม้มันสำปะหลัง

         ด้าน ดร.ณัฐธิญา เบือนสันเทียะ อาจารย์และนักวิจัย สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และศูนย์วิจัยมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการวิเคราะห์เซลล์ของใบมันสำปะหลัง โดยใช้แสงอินฟราเรด สามารถบอกความแตกต่างของใบมันสำปะหลัง ระหว่างก่อนและหลังการชุบท่อนพันธุ์ด้วยแบคทีเรีย พบว่าเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวยังช่วยทำให้ปุ๋ยหรือธาตุอาหารที่สะสมอยู่ในดินเปลี่ยนเป็นสารอาหารที่พืชสามารถดูดนำไปใช้ได้ ส่งผลให้มันสำปะหลังเจริญเติบโตและแข็งแรง เป็นการเพิ่มปริมาณผลผลิตและแป้งของมันสำปะหลัง”

         ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน หนึ่งในผู้วิจัยร่วมได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทั้งนี้ผลการศึกษาดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยี การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง โดยได้มีการลงพื้นที่เพาะปลูกจริงแล้ว ณ แปลงปลูกมันสำปะหลัง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งพบว่า สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากถึง 30% หลังจากนี้ทางสถาบันจะนำผลการวิจัยไปเผยแพร่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ลดการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการส่งออกมันสำปะหลังของไทย”