ซินโครตรอน สู่นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) พร้อมส่งเสริมภาคการผลิต ผ่านการให้บริการแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และทำความความร่วมมืองานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรม มุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาให้ทัดเทียมกับนานาประเทศเพื่อนำไปสู่ความเติบโตที่ยั่งยืน มั่นคง และเข้มแข็งในระยะยาวต่อไป
TOTAL SOLUTION ตอบโจทย์อุตสาหกรรมอย่างครบวงจร
พัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกด้วยแสงซินโครตรอน
ดร.วันเฉลิม รุ่งสว่าง นักวิจัยบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เผยว่า บริษัทฯ ใช้แสงซินโครตรอน สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับ “พลาสติก” โดยการเติมสารเติมแต่งและสารประกอบอื่นๆ เข้าไปเพื่อปรับปรุงให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเหมาะกับการใช้งานแต่ละประเภท เช่น มีผิวที่แข็ง ทนทานต่อการขีดข่วน หรือคงตัวไม่เสียรูปง่าย แสงซินโครตรอนสามารถใช้ศึกษาโครงสร้างระดับนาโนเมตรของพลาสติก ซึ่งโครงสร้างนี้จะบ่งบอกถึงคุณสมบัติของพลาสติกได้ ข้อมูลที่ใช้ในวิจัยสามารถนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการแก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศได้ งานวิจัยที่ผ่านมาสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 252 ล้านบาท รวมถึงเพิ่มศักยภาพให้แก่บริษัทในการแข่งขันในเชิงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ทันต่ออัตราการแข่งขันทางการตลาดที่เข้มข้นขึ้นในปัจจุบัน
ซินโครตรอน สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาด้ามจับไม้กอล์ฟคุณภาพสูงด้วยเทคนิคอินฟราเรด
เป็นสินค้ายี่ห้อชั้นนำของด้ามจับไม้กอล์ฟ ที่เป็นที่นิยมและไว้วางใจอย่างแพร่หลายทั้งวงการนักกอล์ฟอาชีพและนักกอล์ฟมายาวนานกว่า 65 ปี
นายสุทธิเกียรติ ไทยประสานทรัพย์ นักวิจัยบริษัท บริษัท อีตัน อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “ทางบริษัทฯ มีการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดส่งมอบให้แก่นักกอล์ฟ การทดสอบอายุการเก็บรักษา (Shelf Life Validation) ของผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ พบปัญหา การเกิดผลึกเป็นแท่งขนาดเล็กสีขาวขึ้น บริเวณพื้นผิวของด้ามจับไม้กอล์ฟ จึงเข้าปรึกษาที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้น
การใช้แสงอินฟราเรด สามารถตรวจสอบองค์ประกอบของสารที่ทำให้เกิดการก่อตัวเป็นผลึกขึ้นมา โดยทำการเปรียบเทียบกับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต แล้ววิเคราะห์ว่าผลึกที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการทำปฏิกริยาของวัตถุดิบชนิดใดพร้อมทั้งทำการสืบค้นจากฐานข้อมูลสารเคมี ในการพิสูจน์ลักษณะเฉพาะ (Identification) ของผลึกที่เกิดขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้นั้นสามารถระบุถึงสาเหตุของการเกิดปัญหาผลึกเส้น สีขาว บนชิ้นด้ามจับไม้กอล์ฟได้ ซึ่งพบว่าการใส่สารเคมีบางตัวมากเกินไป (Overdose) สามารถเป็นสาเหตุให้เกิดการก่อผลึกดังกล่าวขึ้นได้
การสนับสนุนงานวิจัยดังกล่าวนี้ช่วยให้ บริษัท อีตัน อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด สามารถวิเคราะห์หาข้อบกพร่องดังกล่าวจนนำไปสู่การปรับปรุงสูตรการผลิตที่เหมาะสม ลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการผลิตกว่า 78 ล้านบาท และส่งผลดีในระยะยาวต่อการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ในอนาคต ช่วยสร้างโอกาสการขายที่มากขึ้นที่มีมูลค่าการตลาดหลายร้อยล้านบาทต่อปี
ภาพขยายด้ามจับไม้กอล์ฟที่ไม่เกิดปัญหา
ภาพขยายด้ามจับไม้กอล์ฟที่เกิดผลึกสีขาวบริเวณพื้นผิว