นักวิทยาศาสตร์ไทยได้ทำการผลิตห้องเพาะเลี้ยงเซลล์สาหร่ายขนาดเล็กด้วยเทคนิคการสร้างโครงสร้างจุลภาคด้วยรังสีเอกซ์ จากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน (X-ray microfabrication) ห้องเพาะเลี้ยงขนาดเล็กนี้จะช่วยคัดแยกเซลล์สาหร่ายแต่ละตัวในการศึกษาถึงสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม สำหรับการเจริญเติบโตของสาหร่ายสำหรับการเพาะเลี้ยงในเชิงอุตสาหกรรม
สาหร่ายขนาดเล็ก (Microalgae) เป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำที่สามารถสังเคราะห์แสงได้พบทั้งชนิดที่มีเซลล์เดียว (Single cellular form) และหลายเซลล์ (Multicellular form) ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตสำคัญในระบบนิเวศทางน้ำ หลายศตวรรษที่ผ่านมามนุษย์ได้ศึกษาค้นพบและใช้ประโยชน์จากสาหร่ายนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เป็นอาหารใช้เป็นวัตถุดิบในการสกัดสารเคมีที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ( Bioactive compound ) โปรตีนน้ำตาลโมเลกุลใหญ่และกรดไขมันในอุตสาหกรรม อาหารเสริมและเทคโนโลยีชีวภาพ เครื่องสำอาง รวมไปถึงพลังงานทดแทน เช่น ไบโอดีเซล ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าน้ำมันดีเซลจากใต้พิภพและด้วยอัตราการเจริญและการให้ผลผลิตของสาหร่ายที่สูงอีกทั้งยังใช้พื้นที่ในการเพาะเลี้ยงและทรัพยากรน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับพืชนักวิทยาศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลกจึงให้ความสนใจและศึกษาวิจัยเพื่อเพาะเลี้ยงและใช้ประโยชน์จากสาหร่ายในแง่มุมต่างๆเพิ่มมากขึ้น
ภาพที่ 1 รูปแบบสถาปัตยกรรมของสาหร่ายขนาดเล็กและผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ
จากความต้องการในการศึกษาพฤติกรรมระดับเซลล์ของสาหร่ายให้เข้าใจถ่องแท้มากยิ่งขึ้น การพัฒนาระบบไมโครฟลูอิดิกซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมของไหลจึงถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการตอบคำถามทางสาหร่ายวิทยา โดยการสร้างเป็นห้องเพาะเลี้ยงเซลล์สาหร่ายขนาดเล็กหลายร้อยห้องเพื่อคัดแยกเซลล์สาหร่ายแต่ละตัวมาศึกษาในสภาวะแวดล้อมที่ต้องการ ด้วยเหตุนี้ห้องเลี้ยงเซลล์สาหร่ายบนชิพจึงถูกพัฒนาขึ้นด้วยเทคนิคการสร้างโครงสร้างจุลภาคด้วยรังสีเอกซ์ จากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน (X-ray microfabrication) โดยการสร้างแม่พิมพ์โลหะที่มีความละเอียดสูงและสำเนาโครงสร้างพอลิเมอร์เพื่อนำมาสร้างห้องเพาะเลี้ยงสาหร่ายบนแผ่นกระจก
แม่พิมพ์โลหะบนฐานสแตนเลส ห้องเพาะเลี้ยงสาหร่ายจำนวน 200 ห้องบนแผ่นกระจก
เซลล์สาหร่ายสไปลูลิน่าที่ถูกเพาะเลี้ยงบนชิพปฏิบัติการ
ดร. พันธุ์วงค์ คุณธนะวัฒน์1 ดร.รุ่งเรือง พัฒนกุล2 น.ส.จิรภัทร์ เรืองอินทร์1
1มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
2สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)