กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ทำการศึกษาโครงสร้างของรังนกด้วยแสงซินโครตรอน พบว่าโมเลกุลน้ำลายที่อยู่ในรังนกนางแอ่นมีการเรียงตัวกันเกิดเป็นชั้นของโมเลกุลที่เป็นระเบียบ ซึ่งเทคนิคการทดลองที่มีความสามารถในการระบุโครงสร้างของรังนกนี้จะถูกนำไปใช้ศึกษาความแตกต่างของโครงสร้างและส่วนประกอบของรังนกในแต่ละฤดูกาล ซึ่งผลการศึกษาจะมีส่วนในการช่วยชี้วัดคุณภาพของรังนกที่ได้จากช่วงเวลาต่างๆ ของปี
ภาพที่ 1 รังนกนางแอ่นที่นำมาศึกษา
รังนกที่เรารับประทานกันเป็นอาหารเสริมนั้นได้มาจากการสำรอกน้ำลายออกมาของนกนางแอ่นสารอาหารหลักที่ผู้บริโภคได้รับจากรังนกก็คือไกลโคโปรตีนชนิดต่างๆซึ่งมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายยิ่งไปกว่านั้นรังนกยังประกอบไปด้วยสารคาร์โบไฮเดรตประมาณ 27% ซึ่งประกอบไปด้วยกรดเซียลิค (Sialic acid) 9%, กาแล็คโตซามีน (Galactosamine) 7.2%, กลูโคซามีน (Glucosamine) 5.3%, น้ำตาลกาแล็คโตส (Galactose) 16.9% และน้ำตาลฟรุคโตส (Fructose) 0.7% ซึ่งสารคาร์โบไฮเดรตเหล่านี้ให้พลังงานแก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะกรดเซียลิคที่พบได้ในน้ำนมแม่ช่วงแรกคลอดเป็นส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของเยื่อหุ้มเซลสมองดังนั้นการรับประทานรังนกจึงส่วนช่วยในการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ความจำและการพัฒนาสมอง
การศึกษาโครงสร้างของรังนกที่ได้มาจากการทำรังของนกนางแอ่นในแต่ละครั้งในแต่ละช่วงของปีจากนกนางแอ่นกลุ่มเดียวกันกำลังถูกศึกษาและวิจัย โดยผศ.ดร.นิรันดร มาแทน อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมกับทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ที่นำมาใช้ในการดูโครงสร้างของรังนกคือ เทคนิคการกระเจิงของรังสีเอกซ์เนื่องจากลักษณะการกระเจิงของรังสีเอกซ์ของรังนกนั้นมีลักษณะจำเพาะซึ่งขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางธรรมชาติของรังนกเองภาพที่ 2(a) แสดงรูปแบบการกระเจิงของรังสีเอกซ์ของรังนกที่วัดได้ที่สถานีทดลอง 2.2 ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนณจังหวัดนครราชสีมา ลักษณะการกระเจิงของรังสีเอกซ์ของรังนกที่วัดได้แสดงให้เห็นว่าโมเลกุลน้ำลายที่อยู่ในรังนกนางแอ่นเรียงตัวกันจนเกิดเป็นชั้นของโมเลกุลที่เป็นระเบียบขึ้นมา ดังแสดงตามภาพที่ 2(b) ภาพที่ 3(a) แสดงรูปแบบการกระเจิงของรังสีเอกซ์ของรังนกที่เก็บมาได้ที่มุมกว้างที่วัดได้ที่สถานีทดลอง 2.2 เช่นกัน ลักษณะการกระเจิงของรังสีเอกซ์มีลักษณะเป็นวงๆ และมีความคมของวงซึ่งบ่งชี้ว่า ในรังนกมีผลึกที่มีการจัดวางตัวเป็นแบบในลักษณะสุ่ม (Random orientation) ดังแสดงตามภาพที่ 3(b)
ภาพที่ 2 (a) ผลการวัดของการกระเจิงของรังสีเอกซ์ของรังนกที่เก็บได้ที่มุมเล็ก (b) โครงสร้างของรังนกนางแอ่นที่แต่ละชั้นของโมเลกุลมีลักษณะเป็นลอน
จากผลการวิจัยในเบื้องต้นนี้ทำให้ทราบว่าโครงสร้างโมเลกุลภายในรังนกมีลักษณะเฉพาะเจาะจงโดยทีมนักวิจัยจะทำการศึกษาความแตกต่างของโครงสร้างและส่วนประกอบของรังนกในแต่ละฤดูกาล ซึ่งผลการศึกษาจะมีส่วนในการช่วยชี้วัดถึงคุณภาพของรังนกในช่วงเวลาต่างๆของปี
ภาพที่ 3 (a) ผลการวัดของการกระเจิงของรังสีเอ็กซ์ของรังนกที่เก็บได้ที่มุมกว้าง (b) การจัดวางตัวของผลึกน้ำตาลในรังนกที่เป็นแบบในลักษณะสุ่ม
ผศ.ดร. นิรันดร มาแทน
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และวัสดุศาสตร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์