สถานการณ์หมอกควันหรือฝุ่นละอองในภาคเหนือตอนบน ซึ่งสูงเกินมาตรฐานในปี 2555 พบว่าเกิดขึ้นเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา คือเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ การเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ จากไฟป่า การเผาตอฟางข้าว ซากข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยว การเผาวัชพืชเพื่อทำไร่ และยังเกิดจากไอเสียของรถยนต์
ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือควันเหล่านี้ ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง นอกจากก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจแล้ว ยังมีสารประกอบที่เรียกว่า PAHs (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งกับอวัยวะหลายชนิดได้อีกด้วย ในงานวิจัยของ ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล และคณะ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ชนบทมีค่าสูงกว่าในเมืองและได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างเด็กอนุบาลในพื้นที่รอบนอก จากการตรวจปัสสาวะพบสาร 1-OHP แสดงถึงการได้รับสาร PAHs จากหมอกควันสูงกว่าในเมืองถึง 13 เท่า นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยที่ได้ให้ความสนใจในการหาแหล่งที่มาของหมอกควันหรือฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้ โดย ผศ.สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ และคณะ จากภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ใช้เทคนิคการตรวจวิเคราะห์การดูดกลืนรังสีเอกซ์ด้วยแสงซินโครตรอน (Synchrotron) ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จังหวัดนครราชสีมา เพื่อระบุลักษณะเฉพาะของฝุ่นละอองขนาดเล็กในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน พบว่ามีส่วนประกอบของโปแตสเซียมในพืช เกษตร จึงสามารถบ่งชี้ได้ว่าฝุ่นละอองเหล่านี้เกิดจากการเผาพืชทางการเกษตรมากกว่าเกิดจากการเผาป่า นอกจากนี้ยังมีธาตุอื่นๆ ที่ช่วยบ่งบอกลักษณะของฝุ่นที่เกิดขึ้นว่ามาจากการเผาพืชชนิดใด อีกทั้งการวิเคราะห์การเรืองแสงรังสีเอกซ์ด้วยแสงซินโครตรอน (X-Ray Fluorescent - XRF) จะช่วยยืนยันธาตุที่พบและบอกถึงองค์ประกอบเชิงลึกของสารประกอบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองได้
รูปที่ 1 นักวิจัยกำลังวิเคราะห์องค์ประกอบฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในตัวอย่างด้วยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน
ผลของงานวิจัยที่ใช้แสงซินโครตรอนนี้ เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทำให้ทราบถึงแหล่งที่มาอย่างชัดเจนนอกเหนือไปจากการใช้ภาพถ่ายทางอากาศ หรือการสำรวจภาคพื้นดิน จะเห็นว่าการนำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาบูรณาการร่วมกัน จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล และทำการแก้ไขที่ตรงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง