“เครื่องสังเคราะห์กราฟีนในระดับอุตสาหกรรม” ผลงานนักวิจัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) คว้ารางวัล Bronze Award จากการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมและพัฒนาเศรษฐกิจ ภายในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ Thailand Research Expo 2025
“เครื่องสังเคราะห์กราฟีนสู่การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์” เป็นหนึ่งในผลงานที่สถาบันวิจัยซินโครตรอนนำไปร่วมจัดแสดงที่งานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2568 (Thailand Research Expo 2025) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 มิถุนายน 2568 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยจัดแสดงที่บูธ CL2 ภายในโซนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมและพัฒนาเศรษฐกิจ
เครื่องสังเคราะห์กราฟีนดังกล่าวใช้ระบบสังเคราะห์กราฟีนด้วยเทคนิคความร้อนกระตุ้นแบบพัลส์ยาว (Long-Pulse Joule Heating: LPJH) ที่มีกำลังผลิตวันละ 1 กิโลกรัม โดยอ้างอิงหลักการสังเคราะห์กราฟีนโดยใช้เทคนิค Flash Joule Heating (FJH) ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดในการสังเคราะห์
กราฟีนให้ได้ระดับอุตสาหกรรม โดยอาศัยการจ่ายกระแสไฟฟ้าแรงสูงในเวลาฉับพลัน ผ่านผงคาร์บอนที่ได้จากขยะ จนทำให้เกิดความร้อนสูงกว่า 2700 องศาเซลเซียส แล้วเกิดการสลายพันธะระหว่างอะตอมของคาร์บอนกับแก๊ส หลังอุณหภูมิลดลงอะตอมของคาร์บอนจะจัดเรียงตัวกันกลายเป็นกราฟีนในเสี้ยววินาที
ทั้งนี้สถาบันฯ ได้ศึกษาและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์กราฟีนจากขยะเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ใบอ้อยและชานอ้อยจากอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมพอลิเมอร์, เศษผ้าและเสื้อผ้าเก่าจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ เป็นต้น พร้อมกันนี้ได้ศึกษาและพัฒนาการนำกราฟีนที่ผลิตได้ไปใช้สำหรับพัฒนาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างและคอนกรีต, อุตสาหกรรมยางและพอลิเมอร์, อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ, อุตสาหกรรมสีเคลือบ เป็นต้น นำไปสู่การประยุกต์ใช้กราฟีนในอุตสาหกรรมให้หลากหลายมากขึ้น