สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้เปิดให้บริการแสงซินโครตรอนกับนักวิจัยทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงนักวิจัยจากต่างประเทศ หนี่งในภารกิจนั้นได้สนันสนุนงานวิจัยทางด้านวัสดุคาร์บอนเสมือนเพชรและวัสดุที่เกี่ยวข้องที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้
โดยนักวิจัยของสถาบันฯ ได้วิจัยและพัฒนาวัสดุชนิดนี้ด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านวิชาการจึงมีการจัดงานสัมมนาทางด้านวัสดุคาร์บอนเสมือนเพชรขึ้นประจำทุกปี เพื่อให้นักวิจัยของสถาบันฯ และนักวิจัยต่างประเทศ ได้นำเสนอผลงานทางด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับวัสดุคาร์บอนเสมือนเพชร อันจะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงการถ่ายทอดเทคนิคต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ใช้ในการพัฒนาวัสดุชนิดนี้ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยครั้งนี้เป็นการจัดครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “The 3rd SLRI-NUT-SIAT Colloquium” โดยมี ดร.สุพัฒน์ กลิ่นเขียว รองผู้อำนวยการสนับสนุนทางเทคนิค เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา โดยมีวิทยากรพิเศษจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศร่วมบรรยาย จำนวน 10 ท่าน ซึ่งวิทยากรพิเศษแต่ละท่านได้บรรยายตัวอย่างการประยุกต์ใช้วัสดุคาร์บอนเสมือนเพชรในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ มีนักวิจัยจากหน่วยงานภาคเอกชน 2 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ร่วมทำวิจัยกับสถาบันฯ ภายใต้โครงการวัสดุคาร์บอนเสมือนเพชร ได้เข้าร่วมงานสัมมนาและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีวัสดุคาร์บอนเสมือนเพชรครั้งนี้ด้วย
วัสดุคาร์บอนเสมือนเพชรมีความสำคัญและถูกนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการนำงานวิจัยไปสู่การสร้างนวัตกรรมในอนาคต ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นการนำร่องในการวิจัยและพัฒนาวัสดุคาร์บอนเสมือนเพชรเพื่ออุตสาหกรรมในประเทศไทย