139689681 3760569557323694 5210451198906518400 n

       โครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium : TSC) เป็นโครงการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีระดับความพร้อมทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีในระดับสูง 3 หน่วยงานหลัก

ได้แก่ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน ) (สซ.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ (องค์การมหาชน) (สดร.)ร่วมด้วยมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยอื่น ๆ กว่า 10 หน่วยงานที่มีศักยภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นด้วยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านของหน่วยงานงานภายในประเทศ และส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศอย่างยั่งยืน ในส่วนของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนมีภารกิจใหญ่ที่รับผิดชอบในส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบทดสอบและสร้างอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการพัฒนาดาวเทียมที่จะจัดสร้างขึ้น

   สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มีภารกิจหลักในการผลิตและให้บริการแสงซินโครตรอน ซึ่งระบบที่มีความสำคัญในกระบวนการผลิตแสงซินโครตรอนนั้นคือ ระบบเทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูง กว่า 10 ปีของการเรียนรู้ และสะสมประสบการณ์ทางด้านเทคนิคและวิศวกรรมขั้นสูง รวมถึงเทคโนโลยีสุญญากาศเพื่อการเดินเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนอย่างมีประสิทธิภาพสู่การพัฒนา “ห้องปฏิบัติการจำลองสภาวะอวกาศเพื่อการทดสอบดาวเทียม”

                “ห้องปฏิบัติการจำลองสภาวะอวกาศเพื่อการทดสอบดาวเทียม” สามารถสร้างสภาวะสุญญากาศระดับสูง ที่ค่าความดันต่ำกว่า 1.0 x 10-6 ทอรร์ ในห้องสุญญากาศทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เมตร ยาว 1.5 เมตร และสามารถสร้างสภาวะร้อน-เย็นที่อุณหภูมิ ±150 องศาเซลเซียส โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตความร้อน-เย็นด้วยไนโตรเจนเหลว รองรับการทดสอบดาวเทียมที่มีน้ำหนักมากถึง 100 กิโลกรัม และมีระบบควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ เพื่อการทดสอบคุณสมบัติและความคงทนของวัสดุ เครื่องมือ และอุปกรณ์ ที่สร้างขึ้นสำหรับใช้งานทางด้านอวกาศ เทคโนโลยีป้องกันประเทศและอากาศยาน ที่สภาวะการทำงานต่างๆ เช่น ภายใต้ความดันสุญญากาศ อุณหภูมิร้อนหรือเย็นที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องหรือฉับพลัน ภายใต้การสั่นสะเทือนและสัญญาณรบกวนในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น
เพื่อให้เกิดความมั่นใจและป้องกันความผิดพลาดอันจะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างมหาศาลที่อาจจะเกิดขึ้นกับชิ้นส่วน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ก่อนนำไปติดตั้งเพื่อส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศจริง
 
                  นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการจำลองสภาวะอวกาศฯ ดังกล่าวยังเปิดให้บริการกับภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่สนใจจะมาทดสอบ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมขั้นสูงให้มีความเชี่ยวชาญ เกิดการต่อยอดในการสร้างและพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต