015 20170426 142738

กิจกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า ต้นหญ้าจึงเป็นบทเรียน ครั้ง ที่ 1

         สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำโดย ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ ผู้จัดการระบบลำเลียงแสงที่ 8 เปิดบ้านต้อนรับ ดร.กัลยา สุนทรวงศ์สกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ เครือข่ายคนรักแฝกจาก ป.ต.ท. จำกัด (มหาชน) จากกิจกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า ต้นหญ้าจึงเป็นบทเรียน ครั้ง ที่ 1” ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจาก กลุ่มคนรักหญ้าแฝกแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ป.ต.ท. จำกัด (มหาชน) ที่มีความสนใจเรื่องของหญ้าแฝก และต้องการหาคำตอบ “หญ้าแฝกช่วยให้ดินมีคุณภาพดีขึ้นได้อย่างไร”  ซึ่งหวังสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องหญ้าแฝกให้ถูกต้อง และนำความรู้ดังกล่าวเผยแพร่ไปสู่ประชาชนทั่วไป
         กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้เกษตรกร กลุ่มคนรักหญ้าแฝก ได้เข้ามาสัมผัสกับการทดลอง พร้อมหาคำตอบของประโยชน์ต่างๆ ของหญ้าแฝก ที่สามารถอ้างอิงได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการไขปริศนาในเรื่องของ หญ้าแฝกช่วยปรับปรุงคุณภาพดินได้อย่างไร และเหตุใดหญ้าแฝกจึงช่วยสร้างดินได้ เป็นต้น  โดย ดร.กัลยา สุนทรวงศ์สกุล ได้นำทีมเกษตรกรกลุ่มคนรักหญ้าแฝก พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ของ ป.ต.ท. เข้ามาทำการทดลองที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ในโอกาสนี้  ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ ได้นำทีมร่วมทำการทดลอง ณ ระบบลำเลียงแสงที่ 8 เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถใช้วิเคราะห์ธาตุสำคัญ เช่น ซัลเฟอร์ ฟอสฟอรัส และสถานะทางเคมีที่อยู่ในดิน สำหรับใช้เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของดินได้  โดยครั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรได้มีโอกาสทดลองใช้แสงซินโครตรอนด้วยตัวเอง ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างดิน ไปจนถึงการแปลผลข้อมูลที่ได้จากการทดลองเบื้องต้น ร่วมกับ ดร.วันทนา อีกด้วย และกิจกรรมนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทางสถาบันฯ เปิดโอกาสให้กับกลุ่มประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาสัมผัสเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนอย่างใกล้ชิด

        ทั้งนี้ ทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนพร้อมที่จะสนับสนุนงานวิจัยเพื่อเกษตรกรรม เช่น โครงการเครือข่ายคนรักแฝก รวมไปจนถึงโครงการวิทยาศาสตร์อื่นๆ เพื่อที่จะเข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง