สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นองค์การมหาชน ในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 สำนักงานตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มีภารกิจสำคัญในการให้บริการแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน ตลอดจนส่งเสริมการถ่ายทอดและการเรียนรู้เทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน รวมถึงการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ทัดเทียมสากลนานาอารยประเทศ สร้างงานวิจัยที่เกื้อกูลต่ออุตสาหกรรมเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในโอกาสครบรอบ 10 ปี
สถาบันฯ ได้จัดงาน หนึ่งทศวรรษสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ภายใต้ปณิธาน พัฒนาธุรกิจ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เพื่อคุณภาพของผู้คนให้ดียิ่งกว่าเดิม หรือ Make Tomorrow Better เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว โดยได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานทั้งยังได้พระราชทานพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินงานมาครบ 10 ปี และขอแสดงความชื่นชมที่สถาบันได้ปฏิบัติภารกิจด้วยความอุตสาหะวิริยะ จนสามารถพัฒนาเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีซินโครตรอนขึ้นใช้เอง และได้พัฒนาเครื่องเร่งอนุภาค เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ตลอดจนห้องปฏิบัติการแสงสยาม จนมีความก้าวหน้าใช้ประโยชน์ได้สัมฤทธิ์ผลอย่างแท้จริงตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 10 ปี สถาบันได้แสดงศักยภาพด้วยการนำแสงซินโครตรอนสู่การวิจัยเพื่อพัฒนาวิชาการ ตอบโจทย์อุตสาหกรรม ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตา เหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน กำลังถูกนำมาใช้ได้จริง และสามารถมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของคนไทยมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เทคโนโลยีซินโครตรอน จึงถือเป็นความหวังของวงการวิจัยไทยในการช่วยพัฒนา และยกระดับการศึกษา อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสังคมให้เจริญก้าวหน้าด้วยศักยภาพด้านการพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องมือวิจัย ห้องปฏิบัติการ และบุคลากร ข้าพเจ้าหวังว่า สถาบันจะมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานตามภาระหน้าที่ของตน พัฒนาศักยภาพ เพื่อร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์จากทั้งภาครัฐ เอกชน และจากนานาประเทศ ในการพัฒนางานของตนเพื่อความเจริญก้าวหน้า และเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป”
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงความสำเร็จของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนว่า นับตั้งแต่ปี 2556-2560 สถาบันแห่งนี้มีอัตราการเติบโตของการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 54% สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรมไทยมากกว่า 7,800 ล้านบาท อยู่เบื้องหลังการเติบโต และเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจ SME มากกว่า 50 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจประเภทโลหะ เซรามิก และวัสดุก่อสร้าง พอลิเมอร์ รวมถึงอาหารและยา โดยประโยชน์หลักจากแสงซินโครตรอนนั้น ใช้เพื่อการวิเคราะห์วิจัยเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์ของวัตถุต่าง ๆ ในระดับอะตอมและโมเลกุล สามารถทดสอบได้ทั้งวัตถุที่มีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว และก๊าซ เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนจึงถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ และเป็นดัชนีชี้วัดถึงความเจริญทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของประเทศ
ด้าน รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะอดีตผู้อำนวยการ ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้บรรยายพิเศษ ปฐมบท จากโครงการแสงสยาม...สู่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สรุปได้ว่า มีคนถามเสมอว่า ซินโครตรอนเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ทำไมจึงประสบความสำเร็จได้ในเวลา 10 ปี ก็เพราะปฐมบทของเรื่องนี้ไกลกว่านั้นมาก โครงการนี้เกิดขึ้นโดยมติของคณะรัฐมนตรี จากบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายท่าน อาทิ ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ดร.เกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ ศ.ดร.วิรุฬ สายคณิต คนที่ท้ายที่สุดที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือตน ซึ่งตอนนั้นเป็นอาจารย์ อยู่ดี ๆ ได้รับคำสั่งจากอธิการบดีให้มาเป็นผู้บริหาร โดยใช้เวลาคิดเพียง 45 นาที ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีถึงขนาดนี้ เราเริ่มต้นจากกราวด์ซีโร ในปี 2539 ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ มีเป้าหมายที่จะให้เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจว่า ในที่สุดก็ทำได้สำเร็จ สถาบันแห่งนี้เป็นศูนย์ซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ดร.วีระพงษ์ ย้อนอดีตแรกตั้งสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนต่อไปว่า การพัฒนางานของสถาบันฯ เป็นไปอย่างยากลำบากเริ่มจากการถูกนักการเมืองแบนโครงการด้วยประโยคที่ตนจำขึ้นใจก็คือ เรากำลังทำอะไรอยู่ “เขาให้เนกไทน์มาเพียง 1 เส้น แต่เราต้องมาตัดสูททั้งชุด” แต่ในเวลาต่อมาหลังจากมีการทำวิทยาพิจารณ์แล้ว โครงการก็ได้รับอนุมัติ สร้างอาคารซึ่งมีความสลับซับซ้อนมาก มีห้องใต้ดินด้วย ได้รับงบประมาณปีละ 220 ล้านบาท กับเครื่องที่ได้รับบริจาคจากญี่ปุ่นมูลค่า 6,000 ล้านบาท ต้องต่อสู้กับนักการเมืองทุกรุ่นทุกสมัยด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา บางครั้งต้องอยู่ถึงตีสามเพื่อไป Defence งบประมาณ บางครั้งงบประมาณได้มาแล้ว 200 ล้าน แต่วันต่อมาตัดเหลือ 0.02 ล้าน ได้ ดร.สิปปนนท์ ไปบอกกับคนอนุมัติว่า ถ้าคุณไม่ให้งบประมาณ คุณก็จะเป็นคนทำลายงานในระดับชาติ ทำให้ได้รับงบตามที่ขอไป ยืนยันได้ว่า ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา เราประสบความสำเร็จในการทำงาน เป็นการยกระดับอย่างก้าวกระโดด ในอนาคตซึ่งยังไม่รู้ว่า ใกล้หรือไกล ถ้าประเทศไทยทำได้ จะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่โครงสร้างพื้นฐานระดับชาติถูก Take care อย่างดีแต่ถ้าย้อนไปในอดีต เราใช้เวลาขอเป็นองค์การมหาชนนานถึง 8 ปี ในขณะที่มีอีก 2 สถาบันถูกปัดตก เรื่องแบบนี้จึงต้องมีศิลปะในการนำเสนอเป็นอย่างมาก
“ผมเชื่อเสมอในคำกล่าวที่ว่า ความสำเร็จของคนเราเป็นศัสตราวุธที่ดีที่สุด จึงอยากจะฝากไว้ ขอให้สถาบันแสงซินโครตรอนในทศวรรษต่อไป ใช้ความสำเร็จเป็นศัสตราวุธที่เป็นพลังมหาศาลในการขับเคลื่อนทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองอย่างคุ้มค่า เป็นประโยชน์ต่อลูกหลานสืบไป”
หลังจากนั้นเป็นการนำเสนอประโยชน์จากแสงซินโครตรอนในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยผู้บริหารและซีอีโอของบริษัทชั้นนำ อาทิ ศาสตราจารย์ โจเซฟ โฮล์ม จากมหาวิทยาลัยหลุยเซียน่า บรรยายหัวข้อ ความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างชาติกับสถาบันแสงซินโครตรอน ดร.ธนานันท์ อรรคเดชดำรง จากบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด บรรยายหัวข้อ การปลดล็อกอุตสาหกรรมในอนาคตกับสถาบันแสงซินโครตรอน ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ บรรยายหัวข้อ แนวโน้มการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหาร ดร.ทินกร ผดุงวงศ์ จากบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด บรรยายหัวข้อ สร้างมูลค่าอุตสาหกรรมโลหะด้วยแสงซินโครตรอน พ.ท.นพ.บุระ สินธุภากร จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี บรรยายหัวข้อ แสงซินโครตรอนกับงานวิจัยทางการแพทย์ คุณอำนาจ กิตติกรัยฤทธิ์ จากบริษัท เนเชอรัล เบฟ จำกัด บรรยายหัวข้อ การยกระดับอุตสาหกรรมอาหารด้วยแสงซินโครตรอน
ไฮไลต์ของงานที่บรรดาโอตะรอคอยก็คือ การปะทะคารมระหว่างดาวรุ่งที่กำลังมาแรง น้องเฌอปราง อารีย์กุล จาก BNK 48 กับนักวิทย์รุ่นใหม่ที่มีคำตอบให้กับทุกปรากฏการณ์ อย่าง รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน โดยน้องเฌอปราง ย้อนความหลังให้ฟังว่า จบการศึกษาจากโรงเรียนนฤมลทิน แล้วสอบเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคอินเตอร์ ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนภาษาอังกฤษพื้นฐานก่อน 1 ปี สาเหตุที่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะรู้ตัวตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นว่า ไม่ถนัดวิชาสังคม ไม่เก่งภาษา ชอบคณิตศาสตร์ สนุกกับการทดลอง สนุกกับการนั่งเฝ้าเทอร์โมมิเตอร์ ได้ทำโครงงาน ได้ทำกิจกรรม จุดประกายให้เกิดสิ่งที่ชอบ ทำให้ค้นพบว่า วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ทำให้ได้เรียนรู้ ตั้งข้อสงสัยไปเรื่อย ๆ กับสิ่งที่อยู่รอบตัว อยากเรียนวิทยาศาสตร์ และอยากรู้ไปเรื่อย ๆ ช่วง ม.ปลาย ได้มีโอกาสทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ได้ลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เดินไปขออาจารย์ทำเรื่องเพาะเลี้ยงพันธ์ุไม้ดอก อยากขยายพันธ์ุไม้ดอกปลูกในโรงเรียนโดยไม่ต้องซื้อ มีคนให้คำปรึกษา และมีหนังสือให้อ่าน เลยลองเขียนโครงงานและนำเสนอ สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือ ทำโครงงานนี่ยากมากเป็นการลองผิดลองถูก ต้องลุ้นมาก และเครียด แต่พอถึงจุดที่เราทำได้แล้วดีใจมาก ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ต่อไปถ้าเราทำอะไรในอนาคตสำเร็จ ก็จะมีความสุขมากการเรียนวิทย์ให้สนุก น้องเฌอปรางบอกว่า สำหรับตนเองมองการทดลองวิทย์เป็นการเล่นอย่างหนึ่ง ได้ลองทำอะไรแปลก ๆ ได้สนุกกับมัน ส่วนความฝันที่จะไปอวกาศเป็นความอยากตั้งแต่เด็ก และเชื่อว่าอีกไม่นานคงได้ไป
ขณะที่ ดร.เจษฎา ให้ทัศนะการทำให้สังคมไทยเป็นวิทยาศาสตร์ว่า สังคมไทยมีเรื่องของความเชื่อสูง และไม่ค่อยมีการกระตุ้นให้รู้จักคิด เรื่องการกินผงชูรสแล้วหัวล้าน ไม่มีงานวิจัยใดสนับสนุนเรื่องนี้เลย คนกินผงชูรสเป็นช้อน ๆ ยังไม่เห็นผมร่วง เครื่องตรวจระเบิดจีที 200 ถ้าไตร่ตรองก็จะรู้ว่า ไม่สามารถทำได้อย่างที่โฆษณาชวนเชื่อ สังคมไทยไม่ชอบเรียนวิทยาศาสตร์ ชอบไสยศาสตร์ พิสูจน์ได้กับตัวเองที่เดินสายพูดทั่วประเทศ พบว่า คนไทยอยากฟังเรื่องไสยศาสตร์ สิ่งที่เราทำได้ก็คือ ทำให้ไสยศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ก็สามารถเข้าไปในไสยศาสตร์ได้ ชีวะก็ได้ เคมีก็ได้ วิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเรา ซึ่งวันนี้ก็ดีขึ้น แต่ช่องว่างก็มากขึ้นด้วย ต้องเปลี่ยนวลีที่ว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เป็น ไม่เชื่อต้องพิสูจน์ สังคมไทยจะได้มีความกล้ามากขึ้น
เปิดใจถึงการใช้นวัตกรรมแสงซินโครตรอนวิเคราะห์หาธาตุองค์ประกอบในสีจนสามารถยืนยันว่า เป็นองค์ประกอบของสีที่ผลิตขึ้นในยุคเดียวกับศิลปินแวน โก๊ะ ซึ่งจะมีผลต่อการทำให้ภาพวาดมีมูลค่าสูงถึง 3,000 ล้านบาท เจ้าตัวกล่าวว่า ได้ตัดสินใจใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์วิจัยภาพพิสูจน์ด้วยตนเอง โดยเข้าพบสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน รวมทั้งสืบค้นทั้งในเชิงศิลปะและประวัติศาสตร์ มาตั้งแต่ปี 2558 จนได้ข้อมูลที่ค่อนข้างมั่นใจว่า เป็นรูปภาพที่มาจากยุคเดียวกับศิลปินวินเซนต์ แวน โก๊ะปิดท้ายด้วยปฏิบัติการไขความลับเรื่องภาพวาดของวินเซนต์ แวน โก๊ะ ที่ศิลปินสาว อุ๊ หฤทัย ม่วงบุญศรี นำภาพวาดที่ซื้อมาจากร้านขายของเก่าเพื่อใช้ตกแต่งบ้านมีราคาเพียงหลักพันขึ้นเวที
ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผอ.สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้ให้บริการแสงซินโครตรอนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศจากชิ้นงานชิ้นโบแดงมากมาย สามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 3,000 ล้านบาท ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ได้แก่การพัฒนาปรับปรุงคุณภาพกาแฟสดพร้อมดื่ม ของบริษัท เซาท์เทิร์นคอฟฟี่ จนได้กาแฟสดพร้อมดื่มในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทแต่ยังมีคุณภาพใกล้เคียงกาแฟที่เตรียมสดมากที่สุด รวมทั้งคงอายุการเก็บรักษาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนที่อุณหภูมิห้อง
การค้นคว้าหากรรมวิธีการสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำลำไยสกัดเข้มข้นของบริษัท เนเชอรัล เบฟ จำกัด เพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูงกว่าผลิตภัณฑ์เดิมในท้องตลาด มีผลต่อสุขภาพ และมีกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน อีกทั้งได้ใช้เทคนิคทางด้านแสงซินโครตรอน และเทคนิคที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์คุณสมบัติสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูง เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและเครื่องสำอางต่อไป
การพัฒนานวัตกรรมครีมกันแดดนาโน ของบริษัท แพนราชเทวี กรุ๊ป จำกัด เพื่อศึกษาการดูดซึมผ่านผิวหนังของ
สารกันแดดนาโน และประสิทธิภาพความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ นับเป็นก้าวสำคัญของงานวิจัยต่อวงการแพทย์ผิวหนังและวงการเครื่องสำอาง
การพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกชนิดใหม่ที่คงทนสภาวะการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ดีเยี่ยมของบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด จนสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพิ่มยอดขายได้กว่า 60 ล้านบาทต่อปี
การสนองโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการฟื้นฟูภูมิปัญญาการทำกระจกเกรียบโบราณอายุร่วม 200 ปี ที่เกือบจะสูญหายไปตามกาลเวลา โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ประสบความสำเร็จในการผลิตกระจกเกรียบได้ครบทุกสี และสามารถทำแผ่นกระจกได้บางถึง 0.3 มิลลิเมตร โดยกระจกเกรียบที่สังเคราะห์ขึ้นมาใหม่อยู่ในขั้นตอนทดสอบการใช้งานในสภาพแวดล้อมจริง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
การพัฒนาชุดแสดงอักษรเบรลล์ในราคาที่เอื้อมถึงได้ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้กว่าเครื่องละ85,000 บาท โดยได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 200 เครื่อง เพื่อเป็นของขวัญในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พระราชทานให้โรงเรียนคนตาบอดทั่วประเทศ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสพิการทางสายตาให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางคอมพิวเตอร์ได้สะดวกยิ่งขึ้น
การพัฒนาระบบอัจฉริยะเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าให้กับบริษัท เซโก้ ฟาร์ม ให้ได้ถั่งเช่าที่มีคุณภาพ อุดมไปด้วยสารอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยวิธีการเลี้ยงถั่งเช่าแบบสมาร์ต ฟาร์มเมอร์ เป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก และมีต้นทุนในการติดตั้งระบบไม่เกิน 30,000 บาท สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ และส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างดี สร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนได้อีกทางหนึ่ง
ตัวอย่างงานวิจัยด้านการยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารมีมากมาย อาทิ การศึกษาโครงสร้างคุณภาพของเนื้อสุกรภายใต้เครื่องหมายการค้า S-Pure ทำให้ประชาชนได้บริโภคเนื้อสุกรที่มีรสชาติดีและคุณภาพสูง การศึกษาเนื้อไก่โคราชพบว่า มีปริมาณโปรตีนสูงแต่ไขมันต่ำ และยังมีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การแปรรูปกากมันเป็นใยอาหารคุณภาพสูง การวิจัยนำกากมะพร้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ที่มีโปรตีนและไฟเบอร์สูง เป็นต้น
ดร.สราวุฒิ สุจิตจร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นใหม่ซึ่งมีพลังงานแสงสูงขึ้นกว่าเดิม 2.5 เท่า และความเข้มแสงสูงขึ้นกว่าเดิมมากกว่า 1 ล้านเท่า สามารถรองรับงานวิจัยพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ขั้นสูงได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์และเภสัชกรรม ด้านอาหารและการเกษตร ด้านอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมพลังงาน ด้านโบราณคดี รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสถาบันฯ ยังคงตั้งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการพัฒนาขององค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนในทุกกลุ่มธุรกิจ และมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรม เพื่อการวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทัดเทียม และเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียและระดับโลกต่อไป
สิ่งที่น่าภาคภูมิใจคือ เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นใหม่นี้ตัวเครื่องจะมีราคาประมาณ 6,000 ล้านบาท บีมไลน์แรกราคา 2,000 ล้านบาท ตัวอาคารอีก 1,000 ล้านบาท ออกแบบโดยนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชาวไทย ในจังหวัดนครราชสีมา ใช้เวลาประมาณ 5 ปี