สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานตู้เย็นน้ำมันก๊าด อายุกว่า 60 ปี แก่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดยมีพระราชดำริให้ทำการซ่อมแซมเพื่อสามารถกลับมาใช้งานนำได้อีกครั้ง
ล่าสุดทีมวิศวกรซินโครตรอนไทย ประสบความสำเร็จฟื้นคืนชีพตู้เย็นได้อีกครั้ง เตรียมต่อยอดพัฒนาตู้เย็นพลังงานสะอาดในอนาคต
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ดร.สุพัฒน์ กลิ่นเขียว รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ผศ.ดร.ธวัชชัย จารุวงศ์วิทยา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมการทำความเย็นและการปรับอากาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พร้อมทีมวิศวกรซินโครตรอนไทย เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานความสำเร็จในการซ่อมแซมตู้เย็นน้ำมันก๊าด อายุกว่า 60 ปี จนสามารถนำกลับมาใช้งานได้จริง พร้อมกันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำคณะครูและนักเรียนนายร้อย จปร ชั้นปีที่ 5 เข้าชมนิทรรศการ ย้อนรอยตู้เย็นน้ำมันก๊าด จากอดีตพัฒนาสู่ปัจจุบัน พร้อมชมการสาธิตการใช้งานตู้เย็นฯ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562 ณ พิพิธภัณฑ์พระตำหนักบ้านสวนปทุม จ.ปทุมธานี อีกด้วย
ตู้เย็นน้ำมันก๊าดหรือตู้เย็นแอมโมเนียแบบตะเกียงน้ำมันก๊าด เป็นตู้เย็นที่ไม่ใช้พลังงานไฟฟ้า แต่ใช้ระบบทำความเย็นแบบดูดซึม อาศัยพลังงานความร้อนในการขับเครื่องทำความเย็นให้ทำงาน ระบบทำความเย็นแบบดูดซึมมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ เครื่องกำเนิดไอ (generator) เครื่องควบแน่น (condenser) เครื่องระเหย (evaporator) ส่วนสารทำความเย็นคือแอมโมเนีย (NH3) โดยใช้น้ำเป็นสารดูดซึม (absorbent) ในระบบ
องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการซ่อมแซมตู้เย็นน้ำมันก๊าดครั้งนี้ นำไปสู่การพัฒนาตู้เย็นประหยัดพลังงาน 3 ระบบ ประกอบด้วย การใช้พลังงานจากเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากแก๊สหุงต้ม และพลังงานจากน้ำมันก๊าดในเครื่องเดียวกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการพัฒนา และจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป
ประโยชน์ของตู้เย็นน้ำมันก๊าดในอนาคต
เทคโนโลยีการทำความเย็นแบบดูดซึมในตู้เย็นแอมโมเนียแบบตะเกียงน้ำมันก๊าดเป็นเทคโนโลยีที่มีใช้กันมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในปัจจุบันอาจจะไม่เป็นที่รู้จักและมีใช้อยู่ในวงจำกัด แต่อย่างไรก็ตาม การสร้างและพัฒนาตู้เย็นฯ ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวฯ ยังคงเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ชนบท หรือพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้และห่างไกลจากเทคโนโลยี (เช่น พื้นที่บนภูเขาสูง ในทะเล หรือแม่น้ำ ที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่บนเรือ) ให้สามารถเก็บรักษาหรือถนอมอาหาร ผลผลิตทางการเกษตร และของสดประเภทต่าง ๆ เช่น เนื้อสัตว์ และนม ฯลฯ ในสภาพอากาศร้อน รวมไปถึงใช้เพื่อเก็บวัคซีนหรือยาบางประเภทสำหรับทีมแพทย์ชนบท ที่จำเป็นต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดการเน่าเสีย เป็นต้น