ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านกองทุนนิวตัน สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ประเทศไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางวิขาการกับ Science and Technology Facilities Council (STFC) อันเป็นองค์กรรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่เป็นศูนย์กลางในการทำการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมแห่งชาติ
ในวันอังคารที่ 7 มีนาคม 2561 ณ Harwell Campus เมืองออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร โดยมีศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันฯ และนาง วิคตอเรีย ไรท์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและนวัตกรรมของ STFC เป็นผู้ร่วมลงนาม ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีและประธานกรรมการบริหารสถาบันฯ รวมทั้งคณะผู้บริหารจากสถาบันฯ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้
ในโอกาสเดียวกันนี้ ในระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม 2561 คณะผู้บริหารได้เข้าเยี่ยมชมหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของสหราชอาณาจักรภายใต้ STFC อันประกอบไปด้วย การเยี่ยมชม Diamond Lightsource สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนแห่งสหราชอาณาจักร โดยมีศาสตราจารย์แอนดรูว์ แฮริสัน ผู้อำนวยการ ให้การต้อนรับและหารือความร่วมมือระหว่างสถาบันที่จะเกิดขึ้นภายใต้กองทุนนิวตัน นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชม Central Laser Facility สถาบันการวิจัยด้านเลเซอร์ที่มีความเข้มแสงมากที่สุดในโลกติดอันดับกินเนสเวิร์ลเรคคอร์ด ISIS Muon and Neutron Source สถาบันวิจัยด้านมูออนและนิวตรอนชั้นนำของสหราชอาณาจักร Rutherford Appleton Laboratory ห้องปฏิบัติการวัจัยแห่งชาติที่ทำการวิจัยหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านฟิสิกสฺอนุภาค อวกาศ วัสดุศาสตร์ ดาราศาสตร์ ชีววิทยาและเคมี และนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ทางคณะได้ร่วมหารือขอบข่ายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับทาง Department of Business, Energy, and Innovation Strategy อันเป็นกระทรวงของรัฐบาลอังกฤษที่ดูแลด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ พลังงานและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งมีหนึ่งในเป้าหมายคือการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ การเข้าหารือในครั้งนี้จึงเป็นการสร้างความรู้จักและหารือความคาดหวังของหน่วยงานที่จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไปในอนาคต ในการนี้ ทางคณะได้ยังเข้าไปศึกษากลยุทธ์ด้านการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์กับ British Council โดยศึกษาตัวอย่างจากโครงการ Framelab ซึ่งเป็นการประกวดหานักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก ทั้งนี้เพื่อสามารถนำมาประยุกต์ในการสร้างความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนทั่วไปได้