facebook ซนโครตรอนรวมคดเลอกสายพนธจลน

 

ในบางพื้นที่ของประเทศไทยประชาชนมีความจำเป็นต้องเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค แต่ก็มักพบสารปนเปื้อนอยู่ในน้ำ โดยเฉพาะสนิมเหล็กและสนิมแมงกานีสที่นับเป็นสิ่งสกปรกสำคัญที่ก่อปัญหา ทำให้น้ำมีสีแดงขุ่น และมีกลิ่น รวมทั้งก่อให้เกิดคราบสนิมเคลือบตามเครื่องสุขภัณฑ์และมักตกตะกอนอุดตันภายในท่อ ตลอดจนเป็นอันตรายต่อระบบประสาทของสิ่งมีชีวิตหากได้รับในปริมาณที่สูง

วิธีปฏิบัติทั่วไปในการกำจัดเหล็กและแมงกานีสจะใช้วิธีเติมอากาศและกรองเอาตะกอนของสนิมเหล็กและสนิมแมงกานีสออกไป แต่มักจะพบปัญหาที่ไม่สามารถตกตะกอนแมงกานีสได้หมด ปัจจุบัน จึงมีศึกษาการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยใช้กระบวนการออกซิเดชันแมงกานีสทางชีวภาพ (Biological manganese oxidation) ด้วยการใช้จุลินทรีย์ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


นักวิจัยจากสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ และศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาสายพันธุ์จุลินทรีย์จากหลากหลายพื้นที่จำนวน 21 สายพันธุ์ เพื่อคัดเลือกจุลิทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมงกานีส และใช้เทคนิค X-ray absorption spectroscopy (XAS) ที่ระบบลำเลียงแสง 5.2 SUT-NANOTEC-SLRI XAS beamline ในการระบุเชื้อจุลิทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ


จากการศึกษาพบว่า แบคทีเรียสายพันธุ์ Streptomyces violarus SBP1 (SBP1) เป็นจุลินทรีย์ที่สามารถกำจัดแมงกานีสโดยสามารถเปลี่ยนรูปแมงกานีสในรูปละลายน้ำ (Mn2+) ให้เป็นรูปของแข็ง (Mn3+ หรือ Mn4+) มากที่สุด ผลการศึกษานี้เป็นสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการประยุกต์ใช้เชื้อจุลินทรีย์เพื่อต่อยอดในการปรับปรุงคุณภาพน้ำสําหรับการประยุกต์ใช้งานจริงต่อไปได้ในอนาคต

Picture1

 

Picture2

 

บทความโดย

- รศ.ดร. สุมนา สิริพัฒนากุล-ราษฎร์ภักดี และนายนครินทร์ เทอดเกียรติกุล

สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ และศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

- ดร. พินิจ กิจขุนทด

ผู้จัดการระบบลำเลียงแสง และนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง

 

- ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง