สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ต้อนรับ ผศ.ดร.ภูณิศรา ลิ้มนนทกุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ใช้บริการรายใหม่ ซึ่งมาใช้บริการแสงซินโครตรอนเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของรูพรุนจากหน้ากากต่างชนิด ที่มีต่อการปลดปล่อยละอองลอยของมนุษย์ขณะทำลักษณะท่าทางต่างๆ
ผศ.ดร.ภูณิศรา ลิ้มนนทกุล กล่าวว่า “ทางหน่วยงานร่วมมือกับ น.ส.ชนัดดา ตั้งวงศ์จุลเนียม และคณะ นักวิจัยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ต่อยอดศึกษาการปล่อยละอองจากกิจกรรมการพูด การเปล่งเสียง หรือออกท่าทางนั้น มีโอกาสปล่อยละอองผ่านหน้ากากอย่างไรบ้าง ทางหน่วยงานสนใจที่จะหาความพรุนที่อยู่ในหน้ากากต่างๆ โดยเลือกใช้เทคนิคเอกซเรย์โทโมกราฟี (XTM) เนื่องจากเป็นเทคนิคที่สามารถคำนวณหาค่าความพรุนได้ดีมาก และเป็นเทคนิคที่สามารถเอาไปสื่อสารกับคนที่ไม่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจและเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เพราะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นภาพที่ชัดเจน ก่อนหน้านี้เคยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM) แต่ได้ข้อมูลเป็นภาพ 2 มิติ ที่คนทั่วไปดูความพรุนไม่ออก สำหรับผลลัพธ์ที่ได้นี้จะเป็นฐานข้อมูลเพื่อให้ดีไซเนอร์ได้นำใปใช้ในการออกแบบหน้ากากผ้าต่อไป”
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ภูณิศรา ลิ้มนนทกุล ได้รู้จักสถาบันฯ และเทคนิคการใช้ประโยชน์ต่างๆ จากแสงซินโครตรอนผ่านโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนสู่การประยุกต์ใช้ (SUAPA) ที่จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2566 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพฯ ซึ่งมีกิจกรรมให้คำปรึกษางานวิจัยในรูปแบบ “คลินิกวิจัยสัญจร” และมีนักวิทยาศาสตร์จากกลุ่มเทคนิควิเคราะห์ต่างๆ ให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้แสงซินโครตรอนในการวิเคราะห์ผล ต่อยอด และตีพิมพ์ผลงานวิชาการ แนะนำเทคนิคที่เหมาะสม แนะนำการเตรียมตัวอย่างชิ้นงานทดลอง รวมถึงแนะนำการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อเข้าใช้บริการแสงซินโครตรอน พร้อมรับฟังความคิดเห็นทั้งในด้านการให้บริการ และด้านการจัดกิจกรรม เพื่อนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา