เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ EECi และเยี่ยมชมสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) รวมถึงเยี่ยมชมสวนทุเรียนใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมด้วยการนำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) มาพัฒนาเป็น “ระบบติดตามสภาวะแวดล้อมและให้น้ำทุเรียน”

 

01

โดยมี ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะ ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชม ณ พื้นที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง

02   03

          ศ. ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ EECi และเยี่ยมชมในครั้งนี้ว่า เป็นงานแรกหลังจากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กิจกรรมนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จังหวัดระยอง จากการที่ลงพื้นที่ พบว่า EECi มีความคืบหน้าในการก่อสร้างเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้แล้วกว่าร้อยละ 40 โดยคาดว่าเมืองนวัตกรรม EECi จะพร้อมเปิดดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2564 รวมถึงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์สำคัญที่สามารถรองรับการทำวิจัยขยายผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของ EECi อาทิ โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี โรงเรือนฟีโนมิกส์ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน นอกเหนือจากการหาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศจากหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัยกว่า 70 ราย แล้ว EECi ยังดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชนด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนภาคการเกษตร ภาคการศึกษา และวิสาหกิจชุมชนบนพื้นที่ EEC (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ประโยชน์ด้วย

          ในการนี้ รศ. นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รศ.ดร. สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ดร. สุพัฒน์ กลิ่นเขียว รองผู้อำนวยการปฏิบัติการ ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ ผู้จัดการโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV และคณะ ได้ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งบรรยายโดยสรุปเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) แก่คณะผู้บริหาร อว. ในครั้งนี้ด้วย

          โดยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ในการสร้างนวัตกรรม ตอบโจทย์งานวิจัยให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 ถือเป็นโครงการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยการใช้ความรู้และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เป็นปัจจัยขับเคลื่อนประเทศอย่างเข้มข้น การใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างมากมาย และไม่หยุดยั้ง 

04 

05

 

รายละเอียดเพิ่มเติม: www.eeci.or.th

Cr : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม