50326219 2112925258754807 5728019521273331712 o

ซินโครตรอน ไทยแลนด์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ บริษัทเซโก ฟาร์ม ประสบความสำเร็จพัฒนาเครื่องการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทองอัจฉริยะ ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่างและการระบายอากาศได้แบบอัตโนมัติผ่านระบบสมาร์ทโฟน พร้อมมอบแก่กลุ่มเกษตรกรทดสอบการใช้งานวิจัยเชิงพื้นที่ มั่นใจ ระบบเพาะเลี้ยงอัจริยะนี้ จะได้ถั่งเช่าสีทองที่โตเร็ว อัดแน่นด้วยสารอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ผู้ว่าฯ ยะลาพร้อมผลักดันเกษตรกร ปลูกถั่งเช่าสีทอง ส่งเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้สู่ชุมชน

รศ. นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและประธานกรรมการบริหารสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยว่า “เครื่องเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทองระบบอัจฉริยะ เป็นผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นที่เกิดจากโครงการ Talent Mobility หรือโครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับภาคเอกชน ซึ่งสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ร่วมกับ บริษัทเซโก ฟาร์ม ฟาร์มเลี้ยงด้วงสาคูแบบปลอดสารพิษที่ใช้เป็นอาหารในการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าในจังหวัดยะลา ศึกษาและพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทอง ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่างและการระบายอากาศได้แบบอัตโนมัติ ผ่านระบบคลาวน์ในรูปแบบเครือข่ายฟาร์มอัจฉริยะ เพิ่มศักยภาพในการผลิต ลดปริมาณการสูญเสีย และยังสามารถเพาะเลี้ยงได้ทุกสถานที่โดยไม่ขึ้นกับสภาพอากาศภายนอก ระบบการเพาะเลี้ยงดังกล่าว ได้พัฒนาแล้วเสร็จและติดตั้งในตู้ขนาด 56 คิว ที่สามารถเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทองได้ถึง 500 ขวดต่อ 1 ตู้ และพร้อมนำมาทดสอบการใช้งานวิจัยเชิงพื้นที่ ณ จังหวัดยะลา และนราธิวาส ทั้งนี้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และบริษัทเซโก ฟาร์ม ได้คัดเลือกกลุ่มเกษตรกรทั้งสิ้น 6 ครอบครัว มอบเครื่องเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทองระบบอัจฉริยะ เพื่อหาสภาวะการเพาะเลี้ยงเชิงพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด โดยเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกร ถือเป็นโครงการประชารัฐที่บูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีในยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง”
นายวรเชษฐ พรมโอภาษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวเพิ่มเติมว่า “เกษตรกร รวมถึงประชาชน จ.ยะลา มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ลงมาในพื้นที่ ซึ่งนอกเหนือจากการทดสอบระบบการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าแบบ smart farmer แล้ว โครงการนี้ยังถือเป็นโครงการนำร่องในการสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการจากการจำหน่ายผลผลิต ให้แก่บริษัทเซโก ฟาร์ม เพื่อการพัฒนาการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทอง ให้มีคุณภาพจาการใช้ผลผลิตในพื้นที่ เช่น ต้นสาคู เป็นต้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในงานด้านการเกษตร จะช่วยยกระดับ พัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรไทย ก่อเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง นำไปสู่การประยุกต์ใช้ได้จริงในอนาคต
ดร.รุ่งเรือง พัฒนากุล นักวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “ถั่งเช่า เป็นสมุนไพรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนนานนับศตวรรษ มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศทิเบต สรรพคุณใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ และไต นอกจากนี้ยังช่วยชะลอความแก่ชรา ลดคอเลสเตอรอล บรรเทาและรักษาอาการโรคหอบหืด เป็นต้น สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จึงได้ร่วมกับ บริษัทเซโก้ ฟาร์ม พัฒนาระบบอัจฉริยะผ่านระบบสมาร์ทโฟนเพื่อควบคุม สภาพแวดล้อมการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทองให้ได้เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ถั่งเช่าเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และอุดมไปด้วยสารอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย พร้อมกันนี้ จะได้มีการนำถั่งเช่าที่เพาะเลี้ยงด้วยวิธีการดังกล่าว ไปวิเคราะห์สารสำคัญด้วยแสงซินโครตรอน เช่น อะดีโนซีน สารที่มีคุณสมบัติช่วยลดคอเลสเตอรอล กระตุ้นการเผาผลาญ สร้างเสริมพละกำลัง และสร้างความกระปรี้กระเปร่าให้กับร่างกาย รวมถึงคอร์ไดเซปิน สารสกัดที่พบมากในถั่งเช่าสีทอง มีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง ปรับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ยับยั้งการเกิดและต้านสารอนุมูลอิสระ และช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือดตีบ เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือด เป็นต้น
ด้วยวิธีการเลี้ยงถั่งเช่าแบบ “Smart Farmer” ตามแนวคิดของบริษัทเซโก้ ฟาร์ม เป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างดี รวมทั้งยังสามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่ประชาชนได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล นำพาประเทศสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างแท้จริง”