กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินหน้าลุย สร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ระดับพลังงาน 3 GeV. รองรับงานวิจัย โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศ และงานวิจัยทางการแพทย์ชั้นสูง ตลอดจนงานด้านโบราณคดีในเชิงนิติวิทยาศาสตร์ เน้นเสริมแกร่งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.)
เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้สามารแข่งขันกับนานาประเทศได้ นำประเทศไทยก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พร้อมดำเนินการก่อสร้าง ณ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi มั่นใจ เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ถึง 6,000 ล้านบาท/ปี
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ภารกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ คือต้องการปฏิรูปประเทศเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้มีความพร้อมไปสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วนตามภารกิจของกระทรวง ได้แก่ วิทย์สร้างคน วิทย์แก้จน และ วิทย์เสริมแกร่ง มีเป้าหมายในการนำเอาวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการตอบโจทย์สำคัญของประเทศทั้งสามด้าน โดยเทคโนโลยีแสงซินโคร ตรอน จะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการตอบโจทย์ภารกิจนี้ เนื่องจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะสร้างสรรค์งานวิจัยต่อยอดสินค้าในเชิงพานิชย์ ช่วยขยายขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างองค์ความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งด้วยนวัตกรรม ผลักดันประเทศให้เป็น ไทยแลนด์ 4.0 โดยปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยไปสู่ Value – Based Economy หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวเพิ่มเติมว่า “เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล โดยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV ที่ผ่านการอนุมัติในหลักการจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการจัดสร้างขึ้นนั้น จะสามารถผลิตผลงานวิจัยที่สร้างคุณประโยชน์มากมายมหาศาล อาทิ การวิจัยสารประกอบในพืชและสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาโรค รวมถึงการศึกษาโครงสร้างของโปรตีน ไวรัส และเอนไซม์เพื่อหากลไกของการติดเชื้อ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่นำไปสู่การออกแบบยารักษาโรคใหม่ๆ และที่จะเป็นความหวังต่อวงการแพทย์ของไทยอีกอย่างคือ การศึกษากลไลการทำงานในระดับเลกุลของสารสกัดของตัวอย่างต่างๆ ที่จะไปยับยั้งเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะนำสู่การหาแนวทางการรักษาได้โรคมะเร็งในอนาคต นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยด้านอุตสาหกรรมวัสดุขั้นสูง เพื่อตอบสนองความต้องการในงานพัฒนาวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีตสูตรใหม่ โลหะ หรือวัสดุคอมโพสิทชนิดใหม่ อีกทั้งยังมีงานด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับการวิเคราะห์การปนเปื้อน ในสิ่งแวดล้อมได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างโรคพืชและโมเลกุลที่พืชดูดซึมเข้าไปได้ นำไปสู่การหาแนวทางป้องกันการเกิดโรคในพืชและลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
และหนึ่งกลุ่มงานวิจัยที่ถือได้ว่ามีความสำคัญยิ่ง คือ การศึกษาโบราณคดีในเชิงนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเครื่องกำเนิดแสงในระดับพลังงาน 3 GeV จะสามารถหาที่มา ตลอดจนการถ่ายภาพ 3 มิติ ด้วยเทคนิคทางแสงซินโครตรอน เพื่อไขปริศนาข้อมูลโบราณที่ขาดหายไป และการผลิตของใหม่เพื่อการบูรณะ เป็นต้น
ซึ่งจากการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจพบว่า การที่จะมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ระดับพลังงาน 3 GeV จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศได้ถึง 6,000 ล้านบาท/ปี และที่สำคัญงานวิจัยที่เกิดจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนล้วนเป็นรากฐานการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ วทน. ที่จะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา องค์ความรู้ ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งการพัฒนาด้าน วทน. นี้จะก่อให้เกิดการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ในประเทศ สู่การพัฒนาคุณภาพสินค้า เพิ่มศักยภาพการผลิต ลดการนำเข้าสินค้า และอีกด้านหนึ่งจะก่อให้เกิดการยกระดับผลงานวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และสร้างนวัตกรรม ถือได้ว่าเป็นแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอีกมิติหนึ่ง
เราจึงมั่นใจว่า การมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงจะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญถึงศักยภาพในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศ เพื่อการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างยั่งยืน”
![]() |
![]() |
![]() |
อาคารใหม่ อาคารเก่า
ผู้ประสานงาน น.ส.ศศิพันธุ์ ไตรทาน, น.ส.กุลธิดา พิทยาภรณ์
เบอร์โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1601, 1252 โทรสาร 0-4421-7047
อีเมลล์: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it., This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it., This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.