- รายละเอียด
-

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จับมือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลความร่วมมือวิจัยแสงพัฒนาด้านการแพทย์ มุ่งสร้างสรรค์งานวิจัยเชิงลึก พัฒนางานทางด้านชีวการแพทย์ ต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างปัญญาในสังคม สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังคงดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ภาคการเงินการธนาคาร ภาคประชาชน ภาคสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ร่วมกันระดมความคิด ผนึกกำลังกันขับเคลื่อน ผ่านโครงการบันทึกความร่วมมือ กิจกรรม หรืองานวิจัย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ขั้นสูง และเข้ามาร่วมวิจัยกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ซึ่งจะเป็นการยกระดับการวิจัยและพัฒนาทางด้านการแพทย์ทั้งในด้านคุณภาพ ความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติ เกิดการนำไปพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศต่อไป" |
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า "สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนดำเนินงานภายใต้พันธกิจการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน รวมถึงการให้บริการแสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการถ่ายทอด การเรียนรู้เทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันว่า เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเป็นเทคโนโลยีแสงขั้นสูง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยหลากหลายด้าน อาทิ ด้านอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ด้านวัสดุศาสตร์ ยางและพอลิเมอร์ สิ่งแวดล้อม โบราณคดี อีกทั้งด้านอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และอีกหนึ่งงานวิจัยที่เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนจะเข้าไปตอบโจทย์ได้นั่นคือ งานวิจัยทางการแพทย์
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยพัฒนาด้านการแพทย์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งการลงนามครั้งนี้ถือเป็นการเปิดประตูโลกวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนให้มาเจอกับงานวิจัยด้านการแพทย์ พร้อมทั้งยังเป็นการขยายฐานงานวิจัยของแสงซินโครตรอนให้ครอบคลุมในทุกมิติของงานวิจัยอย่างแท้จริง นอกจากความร่วมมือด้านงานวิจัยแล้ว ยังมีความร่วมมือด้านพัฒนากำลังคน ทั้งด้านการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เพื่อให้คนไทย พร้อมเข้าสู่งานวิจัยในระดับสากล”
|
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวปิดท้ายว่า "คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์ โดยเฉพาะด้านอาหารและยา ผลึกศาสตร์ของโปรตีนก่อโรคเพื่อการพัฒนาตัวยาใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลพร้อมเต็มที่สำหรับการร่วมวิจัย พัฒนา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมสำหรับวงการแพทย์ของไทย นำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยได้จริง ดังนั้นการลงนามบันทึกข้อตกลงวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ของไทย บนพื้นฐานของการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ อันจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของวงการแพทย์ของไทย นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างแท้จริง" |
