เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมมอบนโยบายแก่สถาบันฯ โดยเน้นเรื่องของการผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ตามแนวทางพัฒนาประเทศ Thailand 4.0 นำนวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัยและการบูรณาการเทคโนโลยีต่างๆ มาเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงใน 4 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง โดยมีศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน คณะผู้บริหาร และบุคลากรสถาบันฯ พร้อมด้วย นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ และนายธนพล จันทรนิมิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และ ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้บรรยายสรุปภาพรวมของสถาบันฯ แนะนำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านมรดกทางวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมกันนี้ได้โชว์ผลงานนวัตกรรมต่างๆ ที่มีการนำไปใช้ประโยชน์จริง เช่น เครื่องเคลือบกระจก ชุดอุปกรณ์ปรุงแต่งสัญญาณใช้งานควบกับเซนเซอร์วัดความชื้นได้ทุกยี่ห้อ เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ และเครื่องวัดน้ำตาลในข้าวชนิดพกพา เป็นต้น อีกทั้งกล่าวถึง โครงการสนองพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ดำเนินการร่วมกับองค์กร CERN – DESY ประเทศเยอรมัน และโครงการ LLNL ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้งเรื่องของการพัฒนา Medical Linac และเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอการให้บริการแสงซินโครตรอนแก่ภาคอุตสาหกรรมของสถาบันฯ ทั้งในเรื่องของการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (Total Solution) เพื่อแก้ปัญหากระบวนการผลิต การคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ตลอดจนการช่วย SME ต่อยอดผลิตภัณฑ์ ซึ่งในปี 2560 มี SME เข้าคิวขอรับบริการกว่า 40 ราย โดยสถาบันฯ มุ่งผลักดันยกระดับ SME เข้าสู่ Thailand 4.0
ภายหลังจากการเสร็จสิ้นการนำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานของสถาบันฯ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และคณะได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยาม และห้องระบบควบคุมการผลิตแสงซินโครตรอน พร้อมทั้งได้ชมกระบวนการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ตามสถานีทดลองต่างๆ อย่างใกล้ชิดอีกด้วย