KT DJSI pic2         สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีภารกิจในการให้บริการแสงซินโครตรอนกับหน่วยงานต่าง ๆ หนึ่งในเป้าหมายหลักของสถาบัน คือ การให้บริการกับภาคอุตสาหกรรม โดยสถาบันฯ ได้พัฒนาศักยภาพมาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ทั้งการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ การร่วมวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม หรือแก้ปัญหากระบวนการผลิต การให้คำปรึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ พร้อมด้วยการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่หน่วยงานพันธมิตรหลายหน่วยงาน เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม บริษัทที่ได้เข้ามาใช้บริการแสงซินโครตรอน และสามารถแก้ไขปัญหาอันนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับบริษัทอย่างมาก นั่นคือ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในโอกาสนี้จึงได้รับเกียรติจาก คุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ถึงความสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แสงซินโครตรอน” มาใช้ในการพัฒนาประเทศ เพื่อก้าวผ่านกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ซินโครตรอน - การนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในงานวิจัย สามารถที่จะเข้ามาช่วย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างไร
คุณกานต์  - ณ วันนี้ ประเทศไทยพัฒนาตนเองมาถึงจุดที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงในอนาคต  เราไม่สามารถพึ่งพาแรงงานราคาถูกได้อีกต่อไป การรวมตัวของอาเซียนกำลังจะเกิดขึ้น ประเทศเพื่อนบ้านของเรา มีค่าใช้จ่ายในการลงทุน ทั้งในเรื่องของค่าแรงงานต่างๆ ถูกกว่าประเทศไทยค่อนข้างมากในขณะนี้ เพราะฉะนั้น เราคงต้องมาวิเคราะห์เรื่องนี้อย่างจริงจัง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมุ่งเน้นที่จะใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเองต้องมุ่งเน้นในเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง SCG เรามุ่งมั่นด้านนี้มากว่า 10 ปีแล้ว เราเพิ่มงบวิจัย มุ่งเน้นในเรื่องของการวิจัยพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างจริงจังต่อเนื่องมาตลอด พูดได้ว่า วันนี้ SCGอาจจะเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความมุ่งมั่นในเรื่องของการวิจัยและพัฒนามากที่สุดองค์กรหนึ่งในอาเซียน ผลตอบแทนที่ได้รับมาในรอบหลายปีนี้ เห็นชัดเจนว่าเราสามารถที่จะมีนวัตกรรม มีองค์ความรู้ที่จะพัฒนาและนำเสนอสินค้า บริการที่สามารถนำไปสู่ยอดขายให้กับบริษัทได้ และที่สำคัญ เมื่อ SCG มีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมากเทียบกับการขายสินค้าพื้นๆ ทั่วไป สินค้ามูลค่าเพิ่มเหล่านี้ สามารถที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสินค้าพื้นๆ ที่ต้องอาศัยการแข่งขันกันด้วยราคาเป็นอย่างมาก ผลประกอบการที่ได้ดีขึ้นมาทั้งหมดนี้ ก็ส่งคืนให้กับรัฐบาลในรูปของภาษี และรัฐบาลสามารถที่จะนำภาษีเหล่านี้ไปพัฒนาประเทศได้ เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่เราควรต้องหันมาพึ่งพาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้เหล่านี้ด้วยตัวของเราเอง คนไทย บริษัทไทย องค์กรไทย สามารถที่จะสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ด้วยตัวของเราเองได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือกันทั้งของภาครัฐและเอกชน
ซินโครตรอน - ทำไม บริษัท SCG จึงเน้น และให้ความสำคัญกับการทำงานวิจัย
คุณกานต์ - ตอนนี้ SCG อายุ 101 ปีแล้ว ตลอดช่วง 90 ปีแรก บริษัท SCG รับเทคโนโลยีมาจากผู้ที่ขายเทคโนโลยีให้กับเราเราเป็นเพียงผู้เดินโรงงานเท่านั้นเอง เราไม่มีองค์ความรู้มากพอที่จะเป็นเจ้าขององค์ความรู้เหล่านั้น  เพราะฉะนั้นใน 10 ปี ที่ผ่านมา บริษัทได้มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำในอาเซียนอย่างยั่งยืน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมุ่งสร้างเทคโนโลยีเป็นของตัวเราเอง  ไม่มีทางที่เราจะมี ownership ของเทคโนโลยีได้ ถ้าเราไม่มุ่งเน้นด้านวิจัยและพัฒนา สร้างองค์ความรู้ด้วยตัวของเราเอง เรียนรู้ด้วยตัวของเราเอง ด้วยพนักงานของเราเอง เพราะฉะนั้น SCG ได้เพิ่มนักวิจัยจากในปี 2004 เรามีประมาณ 100 คน  ณ วันนี้เรามีนักวิจัยประมาณ 1300 คน  งบวิจัยในปี 2004 นั้น ประมาณ 40 ล้านบาทเท่านั้น ตอนสิ้นปี 2014 งบวิจัยของ SCG อยู่ในเกณฑ์ประมาณเกือบ 3000 ล้าน  ณ วันนี้เอง นอกเหนือไปจากทรัพย์สินทางปัญญาที่เรามี หรือได้จดสิทธิบัตรแล้ว ที่สำคัญก็คือตัว
         สินค้า บริการที่ SCG พนักงานของ SCG กลุ่มบริษัท SCG สามารถผลิตได้และนำเสนอสู่ผู้บริโภค เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคเรียบร้อยแล้ว สินค้า บริการที่เรียกได้ว่าเป็น สินค่าที่มีมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่สินค้าพื้นๆ อีกต่อไปของ SCG ณ สิ้นปี 2014 มีอยู่ปริมาณกว่า 34% ของยอดขายทั้งหมดของ SCG ยอดขายของ SCG ปี 2014 เกือบๆ 500,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้น 150,000-160,000 ล้านบาทเป็นสินค้าที่เป็นสินค้าประเภทสินค้ามูลค่าเพิ่ม  ถ้าเทียบกับเมื่อ10 ปีที่แล้ว ยอดขายสินค้าที่เป็นสินค้ามูลค้าเพิ่มมีมูลค่าเพียงไม่ถึง 8,000 ล้านบาท จาก 7,000 กว่าล้านบาท มาถึง 150,000 - 160,000 ล้านบาท เรียกได้ว่าเป็นก้าวกระโดดมาอย่างมาก ทำให้เกิดผลกำไร ผลตอบแทนการลงทุนสูงมากกับบริษัท เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ทุกองค์กรในประเทศไทย ณ วันนี้เอง ต้องมีความเชื่อมั่นว่าการวิจัยพัฒนานั้นสามารถที่จะตอบโจทย์ขององค์กรของตัวเองได้ สามารถที่จะช่วยส่งเสริมให้องค์กรของพวกเราเองเป็นผู้นำได้ ในอุตสาหกรรมตัวเองได้อย่างแท้จริง และอย่างยั่งยืนอีกด้วย

b1

ซินโครตรอน - แสงซินโครตรอน เข้ามาช่วยตอบโจทย์ในภาคอุตสาหกรรม  โดยเฉพาะในงานของ SCG ได้อย่างไร
คุณกานต์ - "ถ้าพูดถึงสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ต้องเรียนว่า ดีใจมากที่มี สถาบันฯ ระดับนี้ขึ้นในประเทศไทย ประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้วต่างมีแสงซินโครตรอนทั้งนั้น และประเทศเราก็ควรต้องมี  ซินโครตรอนเป็นสถาบันชั้นสูง ที่ใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ก็คือ “แสงซินโครตรอน” สามารถวิเคราะห์เจาะลึกลงไปในระดับโมเลกุล หรืออะตอม  ถือว่าอันนี้คือ งานวิจัยขั้นสูง (advance research) เพราะฉะนั้นการที่มีสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนขึ้นมา จะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก" เพียงแต่ในช่วงต้นนี้ ทั้งนักธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรม ยังเข้าไปใช้บริการในปริมาณที่น้อยอยู่ แต่ในช่วงหลังมานี้  ปีๆ นึงก็มีผู้เข้ามาใช้บริการร่วม 300 กว่าโครงการ จะเห็นว่ามากขึ้น กลุ่มบริษัทของ SCG เองเป็นที่ Top hit อยู่ในขณะนี้  boardscg
         ตอนนี้ SCG มีหลายโครงการที่มีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนอยู่ เข้าใจว่าถึงวันนี้ SCG มีโครงการอยู่ 30 กว่าโครงการ และมีการใช้บริการที่มีจำนวนชั่วโมงการใช้แสง 1400 กว่าชั่วโมง  ซึ่งเชื่อว่าทาง SCG เป็นองค์กรเอกชนที่ใช้บริการแสงซินโครตรอนสูงที่สุดในประเทศไทย ณ ขณะนี้ และนักวิจัยของเราเองไม่เพียงแต่ไปใช้บริการ แต่นักวิจัยเราสามารถไปใช้เครื่อง ได้ ไป setup วีธีการทดลอง หรือที่เรียกว่า decide of experiment ต่างๆ ได้ และเชื่อว่าตรงนี้ เป็นเรื่องสำคัญ ทำให้เราสามารถที่จะมีองค์ความรู้ มีความเข้าใจเจาะลึกลงไปถึงพื้นฐานจริงๆ คือระดับโมเลกุล หรือระดับอะตอม โครงสร้างต่างๆ ของวัสดุต่างๆ ได้ เราสนใจมากในงานทางด้าน พอลิเมอร์ปิโตรเคมี หรือแม้แต่อุตสาหกรรมซีเมนต์ ก็ทำให้เราทราบโครงสร้างโมเลกุล และองค์ประกอบสำคัญต่างๆ หรือผลของสารต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของซีเมนต์ ทำให้เราสามารถที่จะพัฒนาซีเมนต์ให้มีคุณสมบัติหรือ application (การนำไปใช้) ต่างๆ ที่พิเศษนอกเหนือไปจากซีเมนต์ปกติที่มีขายกันอยู่ทั่วๆ ไป เราสามารถที่จะพัฒนาสินค้าไปสู่อนาคตได้ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยมีสถาบันนี้เกิดขึ้น และอยากจะให้นักธุรกิจต่างๆ  กลุ่มอุตสาหกรรมทั้งหลาย รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ มาใช้บริการมากๆ ซึ่งการมาใช้กันมาก วิเคราะห์เจาะลึกได้มากขึ้น  ก็หมายความว่าเรามีการพัฒนาองค์ความรู้ของเราเองให้สูงขึ้นตามไปด้วย และถึงเวลาแล้วที่เราต้องพัฒนาองค์ความรู้ด้วยตัวของเราเอง ไม่เพียงแต่ไปขอ ไปลอกจากใครมา หรือซื้อจากใครมา การซื้อเหล่านี้ก็ไม่มีความยั่งยืน  เพราะเวลาเค้าขายมาให้เรานั้น ก็ให้ข้อมูลเรานิดเดียว เพื่อรอที่จะขายให้เราต่อไปในอนาคตอีก เพราะฉะนั้นถึงเวลาจริงๆ แล้วที่เราจะพัฒนาองค์ความรู้ของเราเอง ด้วยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ผมมีความเชื่อมั่นอย่างนั้นมากๆ  

 

ซินโครตรอน - เราจะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปได้หรือไม่ อย่างไร
คุณกานต์ - ในเรื่องของกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ขณะนี้ประเทศไทยเราอยู่ตรงกลางของกับดักประเทศรายได้ปานกลางเลย และเป็นที่น่ากังวลใจ เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 65 – 66 ล้านคน และเรากำลังเข้าสู่ประเทศที่เป็นสังคมคนชรา นับตั้งแต่ปี 2010 แล้ว เช่นเดียวกับประเทศ ญี่ปุ่น และหลายๆ ประเทศในยุโรป ขณะนี้รายได้ของประเทศไทยต่อหัว อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 5,000 กว่าเหรียญสหรัฐ ต่อคน ต่อปีโดยเฉลี่ย ถ้าต้องการให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มันต้องขึ้นไปถึงประมาณ 13,000 เหรียญสหรัฐ ต่อคน ต่อปี เราย่ำอยู่ตรงนี้มาหลายปีแล้ว และลองคิดดูว่า ประชากรของเราแก่ลงและเมื่อแก่แล้วไม่สามารถที่จะนำตัวเองไปสู่ความมั่งคั่งได้ ไม่สามารถรวยได้ นี่คือข้อเท็จจริง สำคัญจริงๆ ที่เราต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเชื่อว่า อันนี้เป็นหนทางเดียวจริงๆ ของประเทศไทย ที่ต้องมุ่งเน้นเรื่อง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STI) เข้าไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคเกษตร ทั้งหมดเลย ต้องมุ่งเน้นเรื่องนี้จริงๆ จะทำให้เราสามารถที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการต่างๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เราไม่สามารถจะมาแข่งขันกันอีกต่อไปแล้วในเรื่องราคาของผลิตภัณฑ์พื้นๆ หรือบริการพื้นๆ กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ที่มีต้นทุนถูกกว่าเรามาก เพราะฉะนั้น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นเครื่องมือเดียวที่จะทำให้เราพ้นจากสภาพที่เราเรียกว่า กับดักประเทศรายได้ปานกลาง เราต้องมาช่วยกัน และมาร่วมกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน และผมเชื่อว่าเราทำได้ SCG เองได้ทำมาร่วม 10 ปีแล้ว และก็เห็นได้ชัดว่าเกิดผลเป็นอย่างดี และอีกข้อหนึ่ง ในแต่ละปีที่เรามุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประเทศไทยจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นความจำเป็นอยู่ดีที่เราจะต้องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดไป และขอเชิญชวนให้ทุกๆ คน มาให้ความสนใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมครับ

b2

b3