DSC03454 resize

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 20 ก.ค. 55 ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานแถลงข่าวผลงานวิจัย “ซินโครตรอนกับการศึกษาสารต้านมะเร็งจากพืชสมุนไพร” ร่วมกับ ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร. สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมด้วยทีมงานวิจัยประกอบด้วย ภญ.รศ.ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร คณะเภสัชศาสตร์, รศ.ดร.สหพัฒน์ บรัศว์รักษ์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.ศศิภาวรรณ มาชะนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช นักวิจัยของสถาบันฯ  

          ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี เปิดเผยว่า ถือเป็นอีกหนึ่งในผลสำเร็จของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สำหรับงานวิจัยที่จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวไทย ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานคือ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกระทรวง ในการที่จะส่งเสริมให้ห้องปฏิบัติการแสงสยาม ในฐานะห้องปฏิบัติการวิจัยกลางระดับประเทศ ได้บริหารจัดการให้เกิดการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนอย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมีกลุ่มผู้ใช้บริการหลักก็คือ นักศึกษา คณาจารย์ และนักวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐภายในประเทศ และขยายไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียนตามลำดับ

          ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า สำหรับงานวิจัยนี้เป็นโครงการวิจัยแบบบูรณาการเพื่อสนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช และ ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวจากสารสกัดพืชสมุนไพรไทยซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากงานวิจัยสำรวจพืชตามพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน โดยเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการแสงซินโครตรอนในปี 2554-2555 โดยได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการศึกษามะเร็งอย่างต่อเนื่อง

ภญ.รศ.ดร. นาถธิดา วีระปรียากูร อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า  "โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประเทศไทย แม้ปัจจุบัน การรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ยังพบว่ามีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา และมีรายงานถึงการดื้อยาเกิดขึ้น ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดไม่ประสบความสำเร็จ ความพยายามในการนำสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น จากพืชสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง และลดการเกิดการดื้อยา มาใช้เสริมจากยาเคมีบำบัดที่ใช้อยู่ปัจจุบัน จึงนับเป็นอีกหนึ่งความหวังในการรักษาโรคมะเร็งร้าย

  DSC03436 resize   DSC03421 resize

          งานวิจัยนี้เป็นโครงการวิจัยแบบบูรณาการ จากโครงการวิจัยเพื่อสนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น   ประกอบด้วย ภญ.รศ.ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ รศ.ดร.สหพัฒน์ บรัศว์รักษ์ อาจารย์ประจำคณะเทคนิคการแพทย์ และ น.ส.ศศิภาวรรณ มาชะนา นักศึกษาปริญญาเอกภายใต้โครงการเครือข่ายเชิงกลยุทธ์เพื่อการผลิตและพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ร่วมกับ ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช และ ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวจากสารสกัดพืชสมุนไพร โดยงานวิจัยนี้ต่อยอดมาจากงานวิจัยสำรวจพืชตามพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของ ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ ธิติเมธาโรจน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากนั้นมีการนำพืชที่เลือกศึกษา มาเตรียมเป็นสารสกัด และหามาตรฐานของสารสกัด โดยโครงการวิจัย ของ รศ.ดร. บังอร ศรีพานิชกุลชัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากการศึกษาพืชสมุนไพรหลายชนิด พบว่า สารสกัดจากกิ่งของพืช 2 ชนิด คือ ติ้วขนและสนสามใบ ให้สารออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยมีศักยภาพทำให้เซลล์มะเร็งค่อยๆ สลายตัวจากการทำลายตัวเองจากภายใน หรือเรียกว่าการตั้งโปรแกรมทำลายตัวเอง (Apoptosis) ซึ่งกระบวนการนี้ เป็นผลดีอย่างมากต่อการรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากมีเพียงเซลล์มะเร็งเท่านั้นที่ตายลงไป ไม่มีผลต่อการทำลายเซลล์ปกติที่อยู่ข้างเคียง ร่างกายจึงไม่เกิดการอักเสบขึ้น และไม่มีผลข้างเคียงต่อการใช้ยา

ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช กล่าวว่า เพื่อให้ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่แท้จริงของพืชสมุนไพรทั้งสองชนิดนี้ คณะผู้วิจัยได้ใช้เทคนิคจุลทรรศน์อินฟราเรด (FTIR microspectroscopy) ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงในเชิงลึกที่เกิดขึ้นภายในเซลล์มะเร็ง ผลการทดลองพบว่าสารสกัดสมุนไพร ทั้ง 2 ชนิดนี้ ทำให้เซลล์มะเร็งตายโดยการชักนำให้มีการสร้างโปรตีนชนิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายตัวเองเกิดขึ้น นอกจากนั้นปริมาณของไขมัน โปรตีน และกรดนิวคลีอิก มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่แตกต่างจากกลไกการออกฤทธิ์ของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีต่อการใช้ยาเคมีมาตรฐานชนิดเมลฟาแลนอีกด้วย ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า กลไกการออกฤทธ์ของพืชทั้งสองชนิด แตกต่างจากการรักษาโดยใช้ยาเมลฟาแลน งานวิจัยนี้เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่นำเทคนิคการวิเคราะห์แบบใหม่มาใช้ศึกษาสิ่งมีชีวิต โดยเทคนิคจุลทรรศน์อินฟราเรด สามารถใช้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงสารชีวโมเลกุลระดับเซลล์ อีกทั้งเทคนิคนี้มีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างที่ไม่ยุ่งยาก ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีใด ๆ ในการเตรียมตัวอย่าง และใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์สั้น ซึ่งแตกต่างจากการวิเคราะห์ทางชีวเคมีทั่วไป ที่มีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างยุ่งยาก และสารเคมีราคาสูง ดังนั้นเทคนิคนี้จึงเป็นทางเลือกที่ดีของนักวิจัยที่จะช่วยให้ได้ข้อมูลแบบใหม่เพิ่มขึ้นมาจากวิธีปกติ และให้ผลที่รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น

การศึกษาครั้งนี้ นำไปสู่การนำพืชสมุนไพรไปใช้ประโยชน์จริงในอนาคต นอกจากนี้ การนำแสงซินโครตรอนไปใช้ศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของพืชสมุนไพรในเชิงลึก จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการศึกษาและพัฒนาหาสารออกฤทธิ์ต้านมะเร็งจากพืชสมุนไพรชนิดอื่นๆ ต่อไป ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการทำงานวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนชาวไทยและยังเป็นการอนุรักษ์พันธุ์พืชดั้งเดิม อีกด้วย