เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 55 เวลา 14.30 น. ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เดินทางเป็นประธานพิธีปิดค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนอาเซียน ครั้งที่ 1 (The 1st ASEAN Synchrotron Science Camp) และโครงการครูฟิสิกส์ไทย ครั้งที่ 3 พร้อมให้เกียรติมอบใบประกาศนียบัตรแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งประกอบไปด้วย นักศึกษาระดับปริญญาตรี ถึงปริญญาเอกของประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน รวมจำนวน 81 คน และคณะครูผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 17 คน รวม 98 คน ณ อาคารสิรินธร วิชโชทัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จังหวัดนครราชสีมา
ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น กล่าวว่า “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศ ในการพัฒนาเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเพื่อให้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูงที่เอื้อต่อการพัฒนางานวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ สู่สังคม จากศักยภาพของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนของไทยขณะนี้เราเป็นที่หนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในด้านขนาดของเครื่องที่สามารถผลิตแสงซินโครตรอนในย่านพลังงานที่ 1,200 ล้านอิเล็กตรอนโวลท์ การมีสถานีทดลองจำนวน 9 สถานี และยังสามารถขยายเพิ่มขึ้นได้อีก เพื่อรองรับงานวิจัยในหลากหลายสาขาวิชาที่ครอบคลุมตั้งแต่วิทยาศาสตร์พื้นฐานไปถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์
ในด้านภารกิจของการพัฒนาและสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป จากกิจกรรมครั้งนี้ได้มุ่งสร้างกำลังคนตั้งแต่ระดับเยาวชนปริญญาตรี ไปจนถึงปริญญาเอก รวมถึงการพัฒนาครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ให้ได้เปิดมุมมองการเรียนการสอนสำหรับเทคโนโลยีขั้นสูง การร่วมปฏิบัติการทดลองจริง เกิดการถ่ายทอดประสบการณ์วิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง สถาบันฯ ได้จัดค่ายวิทยาศาสตร์ฯ มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ปี ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งในปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่เปิดรับนักศึกษามหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมกิจกรรม ตอบรับจำนวน 6 ประเทศคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม โดยใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารถือเป็นการยกระดับค่ายวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนสู่ระดับสากลยิ่งขึ้น การได้มาสัมผัสกระบวนทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในห้องปฏิบัติการวิจัยระดับชาติแห่งนี้ จะเป็นการร่วมกระตุ้น และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายกับสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านความร่วมมือในการศึกษาวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา และจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน ซึ่งสถาบันฯ มุ่งขยายฐานการให้บริการแสงซินโครตรอนสู่ประชาคมวิจัยอาเซียนในอนาคต”