สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จัดงานยิ่งใหญ่ เปิดบ้าน จัดอบรมเสวนา “ซินโครตรอน เทคโนโลยีแสงขั้นสูง มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม” พร้อมประกาศเกียรติคุณ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เป็นบริษัทวิจัยดีเด่น มีผลงานวิจัยโดยใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งพัฒนาผลงานทางวิชาการ
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดบ้านต้อนรับภาคอุตสาหกรรม และจัดอบรมยิ่งใหญ่เรื่อง “ซินโครตรอน เทคโนโลยีแสงขั้นสูง มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม” เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “บริษัทวิจัยดีเด่น” แก่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ที่ประสบความสำเร็จในการนำแสงซินโครตรอนมาใช้ในงานวิจัยเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่บริษัทได้กว่า 252 ล้านบาท อีกทั้งยังมีผลงานทางวิชาการที่เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติได้ถึง 3 เรื่อง
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยภายหลังที่นายสักกฉัฐ ศิวะบวร กรรมการบริหารสถาบันฯ ในฐานะประธานการจัดงานอบรมครั้งนี้ มอบโล่ประกาศเกียรติคุณว่า “ที่ผ่านมา สถาบันฯ เปิดให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรม ไม่ต่ำกว่า 30 บริษัท โดยสถาบันฯ มีเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่องานวิเคราะห์ ทดสอบ และมีนักวิทยาศาสตร์ผู้มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูง พร้อมให้คำปรึกษาและร่วมดำเนินการวิจัยกับภาคอุตสาหกรรม ในปีที่ผ่านมาผลงานวิจัยจากการใช้แสงซินโครตรอนของภาคอุตสาหกรรม สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,200 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ถือเป็นบริษัทที่มีความเข้มแข็งในด้านการทำวิจัย และมีนักวิจัยที่มีความรู้และประสบการณ์สูง และสามารถนำแสงซินโครตรอน มาใช้ในการตอบโจทย์ปัญหาได้ตามความต้องการของบริษัท อีกทั้งงานดังกล่าวยังมีคุณค่าทางการพัฒนาวิชาการ สามารถเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติได้
ความสำเร็จนี้ ถือเป็นความภูมิใจของสถาบันฯ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันระดับนานาชาติ”
ดร.วันเฉลิม รุ่งสว่าง นักวิจัยบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เผยว่า “บริษัทฯ ใช้แสงซินโครตรอน สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับ “พลาสติก” โดยการเติมสารเติมแต่งและสารประกอบอื่นๆ เข้าไปเพื่อปรับปรุงให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเหมาะกับการใช้งานแต่ละประเภท เช่น มีผิวที่แข็ง ทนทานต่อการขีดข่วน หรือคงตัวไม่เสียรูปง่าย แสงซินโครตรอนสามารถใช้ศึกษาโครงสร้างระดับนาโนเมตรของพลาสติก ซึ่งโครงสร้างนี้จะบ่งบอกถึงคุณสมบัติของพลาสติกได้ ข้อมูลที่ใช้ในวิจัยสามารถนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการแก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศได้ รวมถึงเพิ่มศักยภาพให้แก่บริษัทในการแข่งขันในเชิงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ทันต่ออัตราการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในปัจจุบัน”
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการบรรยายจากวิทยากรพิเศษ ผศ.ดร.รัตติกร ยิ้มนิรัญ อาจารย์สาขาวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในหัวข้อ “การประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนกับภาคอุตสาหกรรม” และในช่วงบ่ายเป็นการเสวนา “งานวิจัยก้าวไกล อุตสาหกรรมไทยก้าวหน้า” โดย ดร.มงคล เวสารัชเวศย์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัยและพัฒนาเครือเบทาโกร, ดร.วันเฉลิม รุ่งสว่าง นักวิจัยบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด และผศ.ดร.พรวสา วงศ์ปัญญา อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมโลหการ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และปิดท้ายด้วย การเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งในงานนี้มีภาคอุตสาหกรรมให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมกว่า 50 ท่าน
ภาพเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/media/set/?set=a.648065011907513.1073741946.425751100805573&;type=1