โครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับเซิร์น (CERN: The European Organization for Nuclear Research) เกิดขึ้นด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสนพระทัยในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเซิร์น ในหลายวโรกาสได้ทรงมีพระราชดำริว่า หากนักวิทยาศาสตร์ของไทยได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับเซิร์น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศเป็นอันมาก เพื่อสนองแนวพระราชดำริดังกล่าว จึงได้เกิดการประสานงานระหว่างทีมผู้บริหารของเซิร์นและสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือทางวิชาการ
โครงการความร่วมมือไทย-เซิร์น เป็นกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยในปี 2556 นี้ นางสาวปิยะมาศ บุญประกอบ (ครูก้อย) คุณครูสาวจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ กรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทนครูเข้าร่วมอบรมความรู้ด้านฟิสิกส์อนุภาคเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ภายใต้โครงการครูสอนฟิสิกส์ ภาคฤดูร้อนเซิร์น และ นางสาวภัทราวรรณ พาสุวรรณ (น้องปริ่ม) คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล, นายสาโรช ลี่ดำรงวัฒนากุล (น้องเก่ง) คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นตัวแทนนักศึกษาไทยเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์น เป็นเวลา 8 สัปดาห์
ในวันนี้ ทั้ง 3 ท่านเดินทางกลับมาจาก องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือเซิร์น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นที่เรียบร้อย พร้อมทั้งนำความรู้และประสบการณ์ที่ล้ำค่ากลับมาเต็มกระเป๋า ครูก้อยเล่าให้ฟังว่า “ที่เซิร์นมีสื่อการเรียนรู้มากมายที่หวังให้คนทั่วไปได้เข้าใจฟิสิกส์อนุภาค และสื่อการเรียนรู้ที่ครูก้อยประทับใจมากและมีความตั้งใจยิ่งที่จะนำมาใช้ประกอบในการสอนวิชาฟิสิกส์ นั่นคือ Cloud Chamber ซึ่งเป็นการทดลองที่จะช่วยให้เราเข้าใจฟิสิกส์อนุภาคมากขึ้น โดยเป็นการสร้างสภาวะให้แอลกอฮอล์เปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็ง และเมื่อมีอนุภาคเคลื่อนที่ผ่านสภาวะนี้ จะเกิดรอยทาง (Track) สีขาวอย่างชัดเจน การทดลองนี้จะแสดงให้เห็นว่าอนุภาคนั้นอยู่รอบๆ ตัวเราจริงๆ”
น้องปริ่ม ตัวแทนนักศึกษาไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงเดือนแรกจะเป็นการเข้าฟังการบรรยายจากนักวิจัยและวิศวกรของเซิร์น, การได้รับมอบหมายงานคนละ 1 งาน ตามแต่ความสนใจของแต่ละบุคคล สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือ ประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับนักวิจัยระดับแนวหน้าของโลกมากมาย รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น และการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่คนทำงาน แต่ไม่มีคนตามงาน นั่นทำให้เราต้องมีระเบียบวินัย รู้จักแบ่งเวลา และรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น”
โดยในปีนี้ ครูก้อย น้องปริ่มและน้องเก่ง เดินทางไปเซิร์นในช่วงที่เครื่องเร่งอนุภาคหยุดเดินเครื่องเพื่อปรับปรุงและพัฒนา จึงได้มีโอกาสลงไปใต้ดินเยี่ยมชมเครื่องตรวจวัด (detector) ต่างๆ น้องเก่งบอกเราว่า “รู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่ได้ไปเยี่ยมชม สถานีทดลอง เครื่องเร่ง เครื่องตรวจวัดอนุภาคต่างๆ ทั้ง CMS, ALICE, ALATS เป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่และซับซ้อนมากๆ ครับ นอกจากนี้เซิร์นยังเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น เช่น เปิดให้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ The Globe of Science and Innovation ฟรี หรือแม้กระทั้งการจัดค่ายต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์ และไม่เพียงแต่กิจกรรทางวิชาการเท่านั้น ทางเซิร์นยังให้นักศึกษาที่ไปเข้าร่วมกิจกรรมจัดกิจกรรมกันเอง อาทิ งานเลี้ยงสังสรรค์ คอร์สเรียนภาษาฝรั่งเศส เรียนเต้นซัลซ่า ทำอาหารเย็นร่วมกัน หรือไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในช่วงสุดสัปดาห์ เรียกได้ว่า work hard, play hard กันเลย”
“ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ เป็นการเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับการศึกษาด้านฟิสิกส์อนุภาค และนำมาสร้างแรงบรรดาลใจให้แก่นักเรียนที่สนใจในสาขาวิทยาศาสตร์ มีเจตคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยในอนาคต” ครูก้อยกล่าวทิ้งท้าย
นางสาวปิยะมาศ บุญประกอบ (ครูก้อย)
นายสาโรช ลี่ดำรงวัฒนากุล (น้องเก่ง)
นางสาวภัทราวรรณ พาสุวรรณ (น้องปริ่ม)