MG_1116re

TNO 01re

TNO 02re

      กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยโฉมเครื่องเคลือบกระจกฝีมือคนไทย ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สดร.) กับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) นำมาใช้บำรุงรักษากระจกกล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตร ของหอดูดาวแห่งชาติที่อินทนนท์  ช่วยประหยัดงบประมาณกว่าสิบล้านบาท ขณะนี้ประกอบใกล้แล้วเสร็จ รอการทดสอบพร้อมใช้งานจริงปลายปีนี้ 

           ดร.ศรัณย์  โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า “กล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้ง ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ที่ตั้งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจก 2.4 เมตร เป็นกระจกกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระจกเคลือบผิวด้วยอลูมิเนียม มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงได้ดี ทำให้สามารถบันทึกภาพวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ไกลมากๆ และมีความสว่างน้อยได้ดี เมื่อใช้งานไประยะหนึ่งอลูมิเนียมที่เคลือบอยู่บริเวณผิวกระจกจะค่อยๆ เสื่อมสภาพลง ทำให้ประสิทธิภาพการสะท้อนแสงของกระจกลดลง ส่งผลให้ภาพที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์มีคุณภาพลดลงไปด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาและทำความสะอาดกระจกด้วยการเคลือบผิวกระจกด้วยอลูมิเนียมอย่างน้อยทุกๆ 2 ปี เพื่อให้คงประสิทธิภาพในการสะท้อนแสงได้ดี แต่เนื่องจากในประเทศไทยไม่มีเครื่องเคลือบกระจกที่จะสามารถรองรับกระจกขนาดใหญ่ถึง 2.4 เมตร และหากสั่งซื้อจากต่างประเทศจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 35 ล้านบาท สดร. จึงร่วมกับ สซ. ออกแบบและพัฒนาระบบเคลือบกระจก เพื่อผลิตเครื่องเคลือบกระจกขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีการเคลือบกระจกที่ทันสมัยและคุณภาพดีทัดเทียมกับการนำเข้าจากต่างประเทศ  นอกจากนี้เครื่องเคลือบกระจกดังกล่าวยังสามารถเคลือบกระจกสะท้อนแสงของกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดเล็กกว่า 2.4 เมตร สามารถให้บริการแก่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ได้”

 MG_1160re

           นายสำเริง ด้วงนิล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาวิศวกรรม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “เครื่องเคลือบกระจกที่ผลิตขึ้นนี้เป็นระบบสุญญากาศ ใช้หัวพ่นสารเคลือบชนิด Magnetron Sputtering ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเรียงตัวของโลหะบนพื้นผิวกระจกมีความเรียบสม่ำเสมอ ควบคุมความหนาของชั้นโลหะให้มีความสามารถในการสะท้อนแสงได้ดี และยังสามารถเคลือบโลหะชนิดอื่นๆ เช่น ทองคำ ทองแดง และซิลิกาได้อีกด้วย”

         ศ.น.ท.ดร. สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “การออกแบบและสร้างเครื่องเคลือบกระจกดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถทางเทคโนโลยีตลอดจนฝีมือช่างที่สะสมมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงจะสามารถออกแบบและสร้างเครื่องเคลือบกระจกที่มีคุณภาพสูงได้ ตลอดระยะเวลาไม่ต่ำกว่าสิบปีที่ผ่านมา สซ. ได้สั่งสมประสบการณ์ในการออกแบบพัฒนา จัดสร้างอุปกรณ์และเครื่องมือสุญญากาศระดับสูงให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด ผลงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ด้วยกัน ถือเป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยที่สามารถผลิตขึ้นได้เองและมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะนี้ได้ดำเนินการสร้างและประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดใกล้เสร็จสมบูรณ์ร้อยละ 80 จากนั้นจะทำการทดสอบการเคลือบโดยใช้กระจกจำลองลักษณะรูปร่างคล้ายขนาดจริง หากเสร็จสมบูรณ์จะนำมาติดตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมใช้งานประมาณปลายปี 2556 นี้”

TNO 03re


ฝ่ายประชาสัมพันธ์  สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)

โทร. 044-217040 ต่อ 1251-2  โทรสาร 044-217047

E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it."  www.slri.or.th   www.facebook.com/SLRI.THAILAND


ฝ่ายประชาสัมพันธ์  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โทร. 053-225569 ต่อ 210, 081-8854353 โทรสาร 053-225524

E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.  www.narit.or.th

twitter: @N_Earth  www.facebook.com/NARITpage