สถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองในหลายจังหวัดภาคเหนือที่เกินค่ามาตรฐานขณะนี้ ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรงที่จะก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ และยังมีสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย ล่าสุดข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ (ข้อมูล ณ วันที่ 2 เม.ย. 2556) วัดค่าฝุ่นละอองได้สูงสุดที่ อ.เมือง จ.แม่ฮองสอน สูงถึง 170 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ อ.เมือง จ.เชียงราย สูงถึง 129 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และอีกหลายจังหวัดซึ่งค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานทั้งสิ้น โดยหมอกควันและฝุ่นละอองดังกล่าว เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จากไฟป่า การเผาตอฟางข้าว ซากข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยว การเผาวัชพืชเพื่อทำไร่ และยังเกิดจากไอเสียของรถยนต์ด้วย
ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้รับมอบหมายจาก นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อหาแหล่งที่มาของการเกิดหมอกควันและฝุ่นละอองต่างๆ นำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ต่อไป เพื่อจะนำไปสู่การสร้างข้อมูลพื้นฐาน เพื่อเป็นอีกหนทางในการกำหนดมาตรการควบคุม และสามารถกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันหรือฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งกระทรวงวิทย์ฯ พร้อมในการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร. สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวว่า “งานวิจัยด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนนี้ จะเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทำให้ทราบถึงแห่งที่มาของฝุ่นละอองอย่างชัดเจน ว่าฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในสถานที่นั้นๆเกิดมาจากการเผาป่า เผาพืชทางการเกษตร หรือไฟไหม้ป่าตามธรรมชาติ ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานของ ผศ. สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และคณะ ได้ใช้เทคนิคการตรวจวิเคราะห์การดูดกลืนรังสีเอกซ์ด้วยแสงซินโครตรอน ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา เพื่อระบุลักษณะเฉพาะของฝุ่นละอองขนาดเล็กในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน พบว่า มีส่วนประกอบของโปแตสเซียมในพืชเกษตร ดังนั้น จึงสามารถบ่งชี้ได้ว่าฝุ่นละอองเหล่านี้เกิดจากการเผาพืชทางการเกษตรมากกว่าเกิดจากการเผาป่า และยังมีธาตุอื่นๆ ที่สามารถบ่งชี้ได้ด้วยว่าฝุ่นที่เกิดขึ้นมาจากการเผาพืชชนิดใดด้วย”
สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สายด่วน 1313
หรือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 044 217 040 ต่อ 1251-2
การเตรียมพื้นที่ทำไร่ข้าวโพด ใช้วิธีการเผาซากพืชและวัชพืช , การเผาหญ้าริมถนน ลุกลามเข้าป่าข้างทาง พบเห็นโดยทั่วไปของภาคเหนือ ในช่วงฤดูแล้ง