สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทย์ฯ ทุ่มงบ 190 ล้าน ชูไทยเป็นศูนย์กลางผลิตเครื่องฉายรังสีชนิดเครื่องเร่งอนุภาครักษามะเร็งในภูมิภาคอาเซียน ฝีมือนักวิจัยไทยครั้งแรก ชี้ไม่กระทบกับเซลล์ดีรอบข้าง หวังช่วยผู้ป่วยมะเร็งรายได้น้อย

จากสถิติข้อมูลด้านสาธารณสุขของไทย พบว่าการเสียชีวิต 10 อันดับแรกในช่วงปี 2546-2550 นั้น โรคที่พบสูงขึ้น ได้แก่ โรคมะเร็งและเนื้องอก โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดในสมอง โรคเบาหวาน โรคตับและตับอ่อน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการบริโภคและการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ขาดการใส่ใจดูแลควบคุมป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยในการรักษามะเร็งในประเทศไทยยังใช้การผ่าตัดและการใช้เคมีบำบัดเป็นหลัก แต่ใช้ได้ผลดีกับมะเร็งในระยะเริ่มต้นถึงปานกลาง ส่วนการรักษาโดยใช้รังสีบำบัดนั้นยังไม่ทั่วถึง เนื่องจากจำนวนสถานพยาบาลที่ให้บริการยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ มีการกระจุกตัวอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และราคาเครื่องฉายรังสีมีราคาค่อนข้างสูงมากซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ส่งผลให้อัตราค่าบริการในการฉายรังสีแต่ละครั้งแพงมาก ทำให้ผู้มีรายได้ปานกลางถึงต่ำไม่มีกำลังในการจ่ายค่ารักษา และส่วนใหญ่ประชากรกลุ่มนี้มักป่วยด้วยโรคมะเร็งเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีแนวคิดในการสร้างเครื่องฉายรังสีชนิดเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับรักษามะเร็งโดยฝีมือนักวิจัยไทยขึ้นครั้งแรก เพื่อแก้ไขปัญหานี้

มะเรง1

 

หัวฉายรังสีของเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับการรักษามะเร็งที่มา : http://varian.mediaroom.com/image-gallery?mode=gallery&;cat=2471

ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร. สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีเครื่องกำเนิดแสงสยามเพียงแห่งเดียวและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนให้บริการแสงซินโครตรอนในงานวิจัยต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ ล่าสุดสถาบันฯ มีโครงการที่จะออกแบบและสร้างเครื่องฉายรังสีชนิดเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับรักษามะเร็ง (Medical linac) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อใช้ทดแทนการรักษาด้วยเคมีบำบัด เครื่องฉายรังสีดังกล่าวจะมีพลังงานและอำนาจการทะลุทะลวงสูง จึงสามารถฉายรังสีเข้าสู่เซลล์มะเร็งได้โดยตรงทำให้เซลล์ดังกล่าวได้รับรังสีอย่างเต็มที่และสม่ำเสมอ จึงสามารถรักษามะเร็งได้โดยไม่ทำให้เซลล์เนื้อเยื่อดีรายล้อมเซลล์มะเร็งได้รับความบอบช้ำมาก ซึ่งเป็นผลดีกว่าเครื่องฉายแสงด้วยโคบอลล์ 60 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่มีพลังงานต่ำทำให้ไม่สามารถเข้าถึงเซลล์มะเร็งที่อยู่ลึกในร่างกายได้ และต้องใช้ระยะเวลาในการฉายรังสีนานขึ้นซึ่งส่งผลให้เซลล์เนื้อเยื่อดีรอบข้างได้รับความเสียหายไปด้วย สำหรับเครื่องฉายรังสีชนิดเครื่องเร่งอนุภาคที่จะผลิตขึ้นนี้สามารถใช้ในการรักษาโรคมะเร็งทั่วไป เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด และมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น ซึ่งพบมากในผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย เครื่องฉายรังสีชนิดเครื่องเร่งอนุภาคนี้จึงถือเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อไป

            ดร. สราวุฒิ กล่าวต่อว่า ต้นแบบเครื่องฉายรังสีชนิดเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับรักษามะเร็งที่จะพัฒนาขึ้นนี้ จะใช้ทดแทนการนำเข้าและลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่อง การดำเนินงานเป็นการสนับสนุนและเสริมสร้างการวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมการแพทย์สำหรับใช้ประโยชน์ได้จริง และสร้างกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญสูงด้านเครื่องเร่งอนุภาคและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็ง มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.2557 ถึง 30 ก.ย. 2559 โดยใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการทั้งหมด 190 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นการลงทุนในปีแรกประมาณ 41 ล้านบาท ใช้ในการพัฒนาระบบเร่งอิเล็กตรอน ระบบจ่ายกำลัง และโครงสร้างของเครื่องฉายรังสี ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลในการดำเนินโครงการดังกล่าว

            “กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้คือ ผู้ป่วยมะเร็ง ประชาชน โดยเน้นการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ แพทย์ นักวิจัยด้านการแพทย์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศไทยจะมีต้นแบบเครื่องฉายรังสีชนิดเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับรักษามะเร็งทำงานที่ระดับพลังงาน 6 ล้านโวลท์ (6MV) ภายในระยะเวลา 3 ปี และจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการสร้างบุคลากร การวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องฯ ในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต ตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศได้ต่อไป”ดร. สราวุฒิ กล่าวในตอนท้าย

มะเรง2

 

ตัวอย่างเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับการรักษามะเร็ง (อุปกรณ์จากบริษัท Varian)

 

 

งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)

โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1251-2 โทรสาร 0-4421-7047 อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.