1 re  4 re

 

ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เป็นประธานการแถลงข่าว ผสซ.พบสื่อมวลชนจังหวัดนครราชสีมา โดยเปิดเผยถึงแนวคิด และรูปแบบการทำงานเพื่อการพัฒนาห้องปฏิบัติการแสงสยามให้ก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนของภูมิภาคอาเซียน พร้อมเป็นประธานการแถลงข่าว “แสงซินโครตรอนกับการศึกษากระจกเกรียบโบราณของไทย”ว่า   “นักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ทำการศึกษาคุณสมบัติของกระจกเกรียบจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ “วัดพระแก้ว” ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยศึกษาทั้งองค์ประกอบทางเคมี และโครงสร้างอะตอมของกระจกตัวอย่างด้วยแสงซินโครตรอน เพื่อจุดมุ่งหมายที่จะทำกระจกเกรียบขึ้นมาใหม่ที่มีคุณสมบัติเหมือนของเดิมทุกประการ สำหรับการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานของชาติในอนาคต”

ทั้งนี้ ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ หนึ่งในทีมนักวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ถวายรายงานความคืบหน้าผลวิจัย “แสงซินโครตรอนกับการศึกษากระจกเกรียบโบราณของไทย” แก่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงเสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดการประชุม “เวทีวิจัยด้านแสงซินโครตรอนภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ครั้งที่ 6” เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2555 ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ ปาร์ค กรุงเทพมหานคร โดยมีนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน ซึ่งต่างให้ความสนใจและชื่นชมนักวิทยาศาสตร์ไทยที่สามารถใช้แสงซินโครตรอนฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศได้อย่างน่าทึ่ง   และงานวิจัยเรื่องนี้ถือเป็นผลงานชิ้นแรกและชิ้นสำคัญของสถาบันแสงซินโครตรอน ที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย

สำหรับงานหุง และงานประดับกระจกสี เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของงานช่างสิบหมู่โบราณของไทย มีความเจริญรุ่งเรืองนับแต่รัชกาลที่ 3 ซึ่งทรงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยฝาผนังด้านนอกเดิมเป็นลายทองรดน้ำพื้นสีแดง ได้ทำการแก้เป็นลายปั้นปิดทองพื้นประดับกระจกดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กระจกดังกล่าวรู้จักกันในนามว่า “กระจกเกรียบ” ด้วยมีลักษณะเป็นแผ่นบางเรียบเหมือนข้าวเกรียบ สามารถตัดแต่งรูปทรงเป็นชิ้นงานได้ง่าย และมีโทนสีที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย เหมาะสำหรับงานประดับลวดลายอันละเอียดสวยงาม นอกจากการประดับตกแต่งฝาผนังแล้วยังได้ถูกนำมามาใช้ตกแต่ง บุษบก เครื่องราชภัณฑ์ เครื่องใช้ทางศาสนา และวัตถุโบราณอันมีค่าต่างๆ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่งานหุงกระจก และงานประดับกระจกขาดช่างฝีมือสืบทอดต่อกันมา ถึงปัจจุบันยังไม่พบว่า มีแหล่งผลิตกระจกเกรียบขึ้นเองในประเทศไทย จำเป็นต้องสั่งนำเข้ากระจกจากต่างประเทศเพื่อการบูรณะซ่อมแซม

 3 re

ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ เปิดเผยว่า “ในการศึกษากระจกเกรียบโบราณด้วยแสงซินโครตรอนนั้น คณะนักวิจัยซึ่งประกอบด้วย ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ และตนได้รับกระจกจำนวนสองชุด จากสำนักพระราชวัง โดยขอพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ ชุดที่หนึ่ง เป็นกระจกที่ใช้ประดับเสาหานของพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นส่วนที่หลุดลงมาโดยสำนักพระราชวังได้เก็บรักษาไว้และนำมาให้ทีมวิจัย ชุดที่สอง เป็นตัวอย่างกระจกที่ใช้ตกแต่งฐานของพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ภายในปราสาทพระเทพบิดร คณะนักวิจัยได้วิเคราะห์องค์ประกอบของกระจกโดยใช้แสงซินโครตรอน ตรวจสอบด้วยเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ว่ากระจกแต่ละสีประกอบด้วยธาตุชนิดใดบ้าง และมีปริมาณเท่าไร นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับโครงสร้างอะตอมของธาตุว่า องค์ประกอบเหล่านั้น เรียงตัวกันแบบใด ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญทำให้ทราบถึงการเกิดของแต่ละสีในเนื้อแก้วกระจก

ล่าสุด คณะนักวิจัยประสบความสำเร็จรู้ถึงองค์ประกอบของกระจกเกรียบที่มีอายุกว่า 150 ปีแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษา ทดลองเผา หลอมแก้ว และวิเคราะห์สี เนื่องจากจุดตั้งต้นที่ใช้จากการเผามีบางส่วนที่ระเหิดตามกระบวนการหลอมแก้วทำให้ได้สีไม่ตรงกับของดั้งเดิม      จึงต้องศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้งว่า มีธาตุอะไรที่หายไปบ้าง และจะทำการปรับสัดส่วนของธาตุเพื่อที่ให้ได้กระจกเกรียบที่มีสีดั้งเดิม แต่ต้องเข้าใจว่ากระจกผ่านการใช้งานมากว่า 150 ปี ได้ถูกกัดกร่อนทางธรรมชาติ องค์ประกอบบางส่วนอาจจะหายไป เพราะฉะนั้นสูตรที่วิเคราะห์ได้ อาจจะไม่สมบูรณ์เหมือนของเก่าทุกประการ แต่ยืนยันได้ว่าจะพยายามทำให้ใกล้เคียงมากที่สุด สำหรับงานวิจัยนี้ถือเป็นผลงานชิ้นแรกทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ และเป็นชิ้นสำคัญของสถาบันแสงซินโครตรอน ที่ต้องการร่วมฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้ยั่งยืนสืบไปชั่วลูกหลาน” ดร.วันทนา กล่าว