ในที่ประชุมระดับโลกIAEA หวังดันงานวิจัยโบราณคดีเชิงลึกด้วยแสงซินโครตรอน

ร่วมฟื้นฟูงานช่างศิลป์โบราณ


นักวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้รับเลือกจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)ให้เป็น 1 ใน 14 ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเข้านำเสนอผลงานวิจัยจากแสงซินโครตรอนเชิงลึกในสาขามรดกทางวัฒนธรรม ค้นพบองค์ประกอบธาตุที่สำคัญของกระจกเกรียบโบราณวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง ที่มีเอกลักษณ์งดงามวิจิตร หวังฟื้นงานช่างศิลป์โบราณประดับกระจกแก้วของชาติที่สูญหาย พร้อมเชิญชวนนักวิชาการร่วมพัฒนางานวิจัยด้านโบราณคดีด้วยแสงซินโครตรอน




           alt      alt                          


ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ ผู้จัดการระบบลำเลียงแสงที่ 8สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ประเทศไทย ได้รับเกียรติจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA : International Atomic EnergyAgency)ให้เป็น 1 ใน 14 ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมประชุม “Applications of synchrotron radiation sources for compositional and structural characterization of objects in cultural heritage, forensics and materials science” ซึ่งจัดขึ้นสำนักงานใหญ่ IAEA กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 17–21 ตุลาคม 2554ที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบไปด้วยตัวแทนผู้เชี่ยวชาญในสาขามรดกทางวัฒนธรรม นิติวิทยาศาสตร์และวัสดุศาสตร์ จากประเทศต่างๆ ได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส โปรตุเกส เบลเยี่ยม ออสเตรเลีย สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย เซอร์เบีย ยูเครน สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย อิตาลี และประเทศไทย  การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนได้นำเสนอสถานภาพปัจจุบันของการวิจัย การพัฒนา และแนวโน้มการใช้ประโยชน์ของแสงซินโครตรอนในงานวิจัยของทั้ง 3 สาขาดังกล่าวข้างต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ และร่วมกำหนดทิศทางในการพัฒนาเครื่องมือและวิธีการวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพของงานให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้คำแนะนำต่อ IAEA และประเทศสมาชิกถึงวิธีการส่งเสริมและสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนเพื่อตอบโจทย์วิจัยเชิงลึก  
ในโอกาสนี้ ดร.วันทนาได้นำเสนองานวิจัยกระจกเกรียบโบราณจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยแสงซินโครตรอน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นกระจกที่มีเอกลักษณ์พิเศษแตกต่างจากกระจกชนิดอื่นๆ ประกอบกับความประทับใจในความวิจิตรงดงามของศิลปะการปิดทองประดับกระจกของช่างไทยโบราณ และได้บรรยายถึงศักยภาพของสถานีทดลองที่ 8 (BL8) ของสถาบันฯ ที่ใช้แสงซินโครตรอนเพื่อตรวจสอบสมบัติทางเคมีและโครงสร้างระดับอะตอมของตัวอย่างวัตถุโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และประสบผลสำเร็จในการวิเคราะห์ส่วนประกอบเชิงธาตุของกระจกเกรียบโบราณชุดนี้ โดยพบว่า เป็นแก้วผสมตะกั่วในปริมาณสูง (มากกว่า ¼ ส่วนของน้ำหนัก) และมีธาตุโลหะหลายชนิดเจือปนในปริมาณต่ำ (ประมาณ 1/100 ส่วนของน้ำหนัก) ผลการทดลองที่สำคัญอย่างยิ่งคือการค้นพบว่าธาตุทองแดง (Cu+) และโคบอลต์ (Co2+) ที่เจือปนอยู่นั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้กระจกแก้วเกิดเป็นสีแดงและสีฟ้าเป้าหมายสูงสุดของงานวิจัยนี้คือการคิดค้นสูตรแก้วและกระบวนการผลิตกระจกแก้วที่มีสีและสมบัติทางกายภาพใกล้เคียงกับกระจกเกรียบโบราณของไทยให้ได้มากที่สุด เริ่มจากการสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการกระทั่งสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่ภาคอุตสาหกรรมที่สนใจ เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูงานช่างศิลป์ประดับกระจกของชาติให้กลับคืนมาอีกครั้ง






alt


               
            ดร.วันทนากล่าวว่า “การได้เข้าร่วมประชุม IAEA ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการแสดงให้วงการวิจัยระดับแนวหน้าของโลกได้ทราบถึงศักยภาพของประเทศไทยในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์โบราณคดีเชิงลึกได้ดีเช่นเดียวกัน แม้จะมีข้อกำจัดอยู่บ้างเนื่องจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนของประเทศไทยนั้นมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับเครื่องในต่างประเทศ”พร้อมนี้ ตนยังได้เสนอต่อที่ประชุมและ IAEA ในการพิจารณาจัดประชุมระดับนานาชาติ “Synchrotron radiation in Art and Archaeology (SR2A)”ขึ้นที่ประเทศในทวีปเอเชียบ้าง เนื่องจากที่ผ่านมาและกำหนดการในอีกสามปีข้างหน้ายังคงจัดเฉพาะในประเทศอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรปเท่านั้น ดังนั้นจึงเสนอความเป็นไปได้ในการจัดการประชุม SR2A ในปี 2559 ขึ้นที่ประเทศไทยโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนมีความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ  และที่ประชุมได้มีมติตรงกันในการขอให้ IAEA สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยจากประเทศสมาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา
ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนในงานวิจัยทางด้านโบราณคดี ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 4 นักวิจัยที่ได้รับรางวัล ทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” จาก บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)ครั้งที่ 8 ประจำปี 2553 ในสาขาวัสดุศาสตร์ อีกทั้งยังประสบความสำเร็จในการใช้แสงซินโครตรอนศึกษาลูกปัดแก้วโบราณสีแดงอายุประมาณ 1300 ปีจากภาคใต้ของประเทศไทย


alt

                         alt   alt





ผู้สนใจทำงานวิจัยทางด้านโบราณคดี โดยใช้แสงซินโครตรอน สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่     ดร.วันทนาคล้ายสุบรรณ์ผู้จัดการระบบลำเลียงแสงที่8 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) โทรศัพท์: 044-217-040 ต่อ 1490 โทรสาร: 044-217-047 E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.