มหาวิทยาลัยขอนแก่น จับมือ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมกันจัดสร้างระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลอง 2 สถานี โดยใช้แสงซินโครตรอนย่านรังสีเอกซ์ และย่านอินฟราเรด หวังร่วมสร้างผลงานวิจัยคุณภาพสู่สังคมคาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในปี 2556
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และดร.นวลวรรณ สงวนศักดิ์ รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาสถานีวิจัย มข.-สซ.” ซึ่งเป็นการร่วมกันพัฒนาระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลอง 2 สถานี ประกอบด้วย ระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลอง 1.1 (BL1.1) ใช้แสงซินโครตรอนย่านรังสีเอกซ์ และระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลอง 4.1b (BL4.1b) ใช้แสงซินโครตรอนย่านอินฟราเรด ซึ่งจะทำการจัดสร้างและติดตั้งภายในห้องปฏิบัติการแสงสยาม จังหวัดนครราชสีมา นับเป็นความร่วมมือระหว่างสองสถาบัน โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นสนับสนุนด้านงบประมาณครึ่งหนึ่งจำนวน 33 ล้านบาท ในการจัดซื้ออุปกรณ์หลักในการจัดสร้างสถานีทดลองทั้งสองระบบนี้ และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนสนับสนุนงบประมาณอีกครึ่งหนึ่งในการจัดหาอุปกรณ์เสริมระหว่างการติดตั้ง รวมถึงกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ และพัฒนาระบบลำเลียงแสง รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้เทคนิคการวิเคราะห์แก่คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่วนในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ของแสงซินโครตรอน จะแบ่งกันคนละครึ่งของจำนวนเวลาที่จะเปิดให้บริการ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ปลายปี 2556
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า “จากการประสานงานอย่างต่อเนื่องระหว่างศูนย์วิจัยและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน และศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีบูรณาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน รวมถึงมหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมสนับสนุนให้อาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัย ได้สร้างผลงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่สู่สังคมมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีความเห็นร่วมกันว่า เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการมากยิ่งขึ้น การเปิดโอกาสให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้เข้าถึงเทคนิควิเคราะห์ขั้นสูงโดยใช้แสงซินโครตรอนอย่างเต็มที่จะเป็นการสร้างมาตรฐานผลงานวิจัยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติต่อไป มหาวิทยาลัยจึงร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ในการจัดสร้างระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลองจำนวน 2 สถานี ในย่านรังสีเอกซ์ และย่านอินฟราเรด เพื่อรองรับงานวิจัยที่มีอย่างหลากหลาย และผลงานที่นักวิชาการของมหาวิทยาลัยมีความชำนาญ เช่น งานทางด้านวัสดุศาสตร์ งานด้านสิ่งแวดล้อม และการแพทย์ โดยความร่วมมือในการจัดสร้างอุปกรณ์วิจัยขั้นสูงและด้านวิชาการครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้สนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือวิจัยขั้นสูง เพื่อจัดสร้างระบบลำเลียงแสงและสถานีวิจัย 2 ระบบ เป็นจำนวนเงินงบประมาณ 33 ล้านบาท ในการจัดซื้ออุปกรณ์ในการจัดสร้าง และจะได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานโครงการฯ เพื่อประสานร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ในส่วนสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นจะผลงานร่วมกันระหว่างทั้งสองสถาบันฯ”
ดร.นวลวรรณ สงวนศักดิ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยว่า “โครงการพัฒนาสถานีวิจัย มข. และ สซ.” ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในระดับทวิภาคี โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐอีกแห่งหนึ่งที่มีผลงานวิจัยที่โดดเด่นระดับแนวหน้าของไทย และสถาบันฯ เป็นหน่วยงานวิจัยกลางที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศโดยให้บริการแสงซินโครตรอนและแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก การที่สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นแหล่งรวมนักวิชาการทุกสาขา ได้ให้ความสำคัญและเล็งเห็นถึงพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์จากแสงซินโครตรอน ถือเป็นการร่วมสร้างจุดแข็งของการพัฒนากำลังคนและงานวิจัยของไทยสู่สากลยิ่งขึ้น สำหรับสถานีทดลองทั้ง 2 สถานี ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนี้ ประกอบด้วย
สถานีระบบลำเลียงแสงที่ BL1.1 ใช้แสงซินโครตรอนในย่านรังสีเอกซ์ จะให้ความเข้มของแสงเอกซเรย์ประมาณสี่สิบเท่าเมื่อเทียบกับแสงที่ได้จากแม่เหล็กสองขั้ว (bending magnet) ของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ใช้พลังงานในช่วง 5 -15 keV สถานีทดลองนี้จะเป็นลักษณะของ multiple techniques นั่นคือเป็นสถานีทดลองที่ถูกออกแบบให้สามารถรองรับการทดลองได้หลายเทคนิค คือมี X-ray diffraction, X-ray absorption spectroscopy สำหรับการศึกษาโครงสร้างของสารตัวอย่างในระดับอะตอม เทคนิค Small angle x-ray scattering, Wide angle x-ray scattering สำหรับการศึกษาสารตัวอย่างในระดับนาโนเมตร และ X-ray fluorescence สำหรับการวิเคราะห์ชนิดและปริมาณของธาตุในสารตัวอย่างที่สนใจ โดยผู้ใช้สามารถที่จะเลือกใช้เทคนิคได้มากกว่าหนึ่งเทคนิคกับสารตัวอย่างเดียวกัน โดยสารตัวอย่างที่สามารถนำมาวัดได้มีหลายชนิด เช่น สารสำหรับงานด้านวัสดุศาสตร์ ตัวเร่งปฏิกิริยา สารชีวภาพ สารเคมีที่ใช้ในงานด้านสิ่งแวดล้อม และสารที่ใช้ในทางการแพทย์
ระบบลำเลียงแสงที่ BL4. 1b ใช้แสงซินโครตรอนในย่านอินฟราเรด เทคนิค FTIR ในย่านพลังงาน 0.025 – 0.5 eV โดยมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการศึกษาคุณสมบัติการดูดกลืนแสงในย่านอินฟราเรดของสาร โดยใช้กล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด เพื่อศึกษาตัวอย่างที่มีขนาดเล็ก เช่น เซลล์พืช เซลล์สัตว์ เส้นผม เส้นใยต่างๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้ในงานวิจัยทางด้านการแพทย์
การสร้างระบบลำเลียงแสงนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบัน ฯ โดยจะมีการบริหารจัดการภายใต้คณะทำงานซึ่งเป็นผู้แทนจากทั้งสองฝ่าย ในการพิจารณาบริหารจัดการงบประมาณ การบริหารการเข้าใช้ประโยชน์ของแสงซึ่งจะแบ่งกันคนละครึ่งของจำนวนเวลาที่จะเปิดให้บริการ การเดินเครื่อง การดูแลรักษา ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีผลงานเทียบเท่าระดับมาตรฐานสากล